ผู้นำสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ร่วมแสดงความไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โจมตี 'เพิร์ล ฮาร์เบอร์'

US Japan Obama Pearl Harbor

นายชินโซ อาเบะ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีญีปุ่นคนแรกที่เดินทางไปแสดงความเคารพและไว้อาลัย ณ อนุสรณ์สถาน ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ และเป็นถือผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางไปเพิร์ล ฮาร์เบอร์ พร้อมกับผู้นำสหรัฐฯ

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญีปุ่น และ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ร่วมพิธีวางพวงมาลาแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ที่ อนุสรณ์สถานเรือรบ ยูเอสเอส แอริโซน่า ส่วนหนึ่งของอนุสรณ์ผู้เสียสละสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฐานทัพเรืออ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย

Graphic: Casualties and damage from Pearl Harbor attack

ฐานทัพแห่งนี้ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2484 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,400 ราย และเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 75 ปีก่อน

Japanese Prime Minister Shinzo Abe, left, and U.S. President Barack Obama speak at Joint Base Pearl Harbor-Hickam, Hawaii, Dec. 27, 2016.

​นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและจริงใจ ต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า 'เราจะไม่ตอกย้ำความโหดร้ายของสงคราม แต่เราจะมาเพื่อแสดงความรำลึกไปถึงผู้กล้าชายหญิงทั้งหลายที่ได้สละชีพในเหตุการณ์ครั้งนั้น'

ประธานาธิบดี โอบามา กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นนั้น เป็นเสาหลักสำคัญสำหรับสันติภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมไปถึงสันติภาพของโลก

และการเดินทางมาแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตของผู้นำญีปุ่นในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นไปได้ระหว่างทั้งสองประเทศ และผู้คนจากทั้งสองประเทศ ที่เมื่อสงครามยุติลงไป ศัตรูที่เคยสู้รบก็สามารถกลับมากลายเป็นพันธมิตรกันได้

U.S. President Barack Obama (R) puts his arm around Japanese Prime Minister Shinzo Abe after they laid wreaths in front of a cenotaph at Hiroshima Peace Memorial Park in Hiroshima, Japan. May 27, 2016.

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรก ที่ได้เดินทางไปแสดงความเคารพและไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต ที่เมืองฮิโรชิมา ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่สหรัฐฯ เคยทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกเมื่อปึ ค.ศ.1945 หรือ พ.ศ. 2488 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 140,000 คน