การปลดและปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง ที่ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมานานหลายสัปดาห์มานี้ สร้างความกังขาถึงชะตากรรมของเขา ตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองของจีน ที่นักวิเคราะห์มองว่าจะสั่นคลอนบทบาทของจีนในเวทีโลกอย่างมาก
ชะตากรรมของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ฉิน กัง ที่ยังคงไม่มีใครทราบแน่ชัด หลังรัฐบาลจีนที่สั่งปลดฟ้าฝ่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนรายนี้ และดึงตัว หวัง อี้ นักการทูตระดับสูงสุดของจีน กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เห็นว่าความคลุมเครือในการถอดถอนอดีตรมต.ฉิน กัง ออกจากตำแหน่ง จะลดความเชื่อมั่นของจีนในเวทีโลก และเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจทำให้ระบบการปกครองของจีนเป็นอัมพาตได้
อัลเฟรด วู ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจาก National University of Singapore หรือ NUS เปิดเผยกับวีโอเอว่า ระบบการปกครองของจีนกำลังได้รับความเสียหาย “เมื่อการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในระบบหมดไป ก็จะบีบให้จีนต้องพึ่งพาการตัดสินใจของคน ๆ เดียวทั้งหมด และอาจมี "เซอร์ไพรส์" มากมายที่อาจทำให้ระบบสั่นคลอนได้ในที่สุด”
หลังจากการถอดถอนจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน กระทรวงต่างประเทศจีนได้ลบข้อมูลที่เกี่ยวกับฉินออกจากเว็บไซต์ของกระทรวงทั้งหมด แต่ในเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นของจีน เนื้อหาของบันทึกการประชุมบางส่วนของเขากลับมาอีกครั้ง นักวิเคราะห์ต่างบอกว่าสิ่งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงของจีน และว่าผู้นำระดับสูงของรัฐบาลจีนยังคงมองว่ากรณีของฉินนั้นเป็นปัญหาต่อประเทศอยู่
วู เสริมว่า “พวกเขาไม่รู้ว่าจะจัดการเรื่องการปลดฉินออกจากตำแหน่งอย่างเหมาะสมได้อย่างไร และมันแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวของเขายังไม่ได้รับการสะสาง”
ฉิน กัง นักการทูตวัย 57 ปีของจีน เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจที่สุดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่การไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนนับตั้งแต่วาระการหารือกับทางการเวียดนามและศรีลังกาเมื่อ 25 มิถุนายนเป็นต้นมา และทั่วโลกพยายามหาเงื่อนงำที่จะช่วยอธิบายการสิ้นวาสนาของดาวรุ่งแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายนี้
หลังจากทางการจีนระบุว่าการหายตัวไปของเขาเป็น “ปัญหาด้านสุขภาพ” ในช่วงแรก แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธในประเด็นดังกล่าวในอีกไม่กี่วันต่อมา ขณะที่การขาดคำอธิบายเพิ่มเติมยิ่งสร้างการคาดเดาไปต่าง ๆ นา ๆ บนโลกออนไลน์ของจีนและกับทั่วโลก
ระหว่างการแถลงข่าวของกระทรวงต่างประเทศจีนเมื่อวันพุธ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เลี่ยงที่จะตอบคำถามหลายครั้งที่เกี่ยวกับฉินและการปลดเขาจากตำแหน่ง แต่เธอได้ย้ำซ้ำ ๆ กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเนื้อหาตามแถลงการณ์สั้น ๆ ของทางการจีนและในรายงานที่เผยแพร่ทางสำนักข่าวซินหัวแทน และการตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นที่ว่านี้ไม่ได้ปรากฏในเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศจีนอีกด้วย
นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่าการที่รัฐบาลจีนไม่เต็มใจที่จะให้คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปลดฉินจากตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แค่ "ปัญหาสุขภาพ"
ชาง อู-เยห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจาก Tamkang University ในไต้หวัน กล่าวกับวีโอเอว่า “ปักกิ่งไม่ควรทำลับ ๆ ล่อ ๆ เกี่ยวกับเหตุผลของจากปลดเขาออกไปหากมันเป็นแค่ประเด็นด้านสุขภาพ” และว่าความจริงที่ว่าฉินยังคงมีตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ (state councilor) หมายความว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ได้สรุปการสอบสวนประเด็นที่แท้จริงของฉินเลย
มุมมองที่แตกต่าง
การปลดฉิน กัง มาในช่วงเวลาสำคัญสำหรับจีนที่พยายามขยายอิทธิพลไปทั่วโลก และความพยายามประสานสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯ อีกครั้ง
วู จาก NUS คิดว่าการปลดฉินและการขาดคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะยิ่งทำให้ประเทศประชาธิปไตยคลางแคลงใจจีนในฐานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้ โดยเขาหยิบยกการสำรวจล่าสุดจากสถาบันวิจัย Pew Research Center ที่ชี้ว่ามุมมองเชิงลบต่อจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศตอนนี้ ซึ่งการจัดการเรื่องของฉินจะยิ่งสร้างมุมมองที่ไม่ดีต่อจีนในกลุ่มประเทศรายได้สูงขึ้นไปอีก
ขณะที่ในภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย หรือ Global South ซึ่งนิยมชมชอบจีนมากกว่าตามการสำรวจของ Pew Research Center การปลดฉินกะทันหันอาจไม่ให้ผลเชิงลบมากนัก มอริตซ์ รูดอล์ฟ จากศูนย์ศึกษาด้านจีน Paul Tsai China Center แห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าวเสริมด้วยว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศเหล่านี้คือจีนสามารถให้สิ่งที่ต้องการในการรักษาสัมพันธ์กับพวกเขาได้หรือไม่ และพวกเขาสามารถรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มั่นคงกับจีนได้หรือไม่”
SEE ALSO: ผลสำรวจเผยทั่วโลกมีทัศนคติแง่ลบต่อจีนสูงสุดเป็นสถิติใหม่
ส่วนประเด็นการแต่งตั้งหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้ง วู จาก NUS มองว่ารัฐบาลปักกิ่งต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่มีประสบการณ์จะเข้ามาควบคุมนโยบายต่างประเทศของจีนได้ “สำหรับจีนแล้ว มันสมเหตุสมผลที่นักการทูตระดับสูงสุดจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนักการทูตเบอร์ 2 ได้ และพวกเขาคิดว่าโลกภายนอกจะพึงพอใจกับการปรับคณะทำงานครั้งนี้”
ผู้นำอันโดดเดี่ยว
บทบาทที่ตกต่ำลงไปอย่างปริศนาของฉิน กัง ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ซึ่งสร้างคำถามมากมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ “การปกครองโดยคนเดียว” ในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพราะไม่กี่วันมานี้ สื่อจีนรายงานการเสียชีวิตของผู้บัญชาการทหารจีน 2 ราย แต่การเปิดเผยข่าวที่ล่าช้าและคำอธิบายที่คลุมเครือเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพวกเขาได้ทำให้เกิดข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงแพร่สะพัดไปทั่ว
นักวิเคราะห์บางรายบอกว่า เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึง “ความคลุมเครือของการเมืองภายใน” ระบบการปกครองของจีน
SEE ALSO: วิเคราะห์: เปลี่ยนตัวรมต. ตปท. จีนจะมีผลอย่างไรกับนโยบายการทูต?
นีล โธมัส จาก Asia Society Policy Institute ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “การเมืองภายในของกลุ่มชนชั้นนำนั้นเป็นความลับเสียจนแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศอาจจะไม่ได้รับทราบถึงสถานการณ์ของฉินได้ดีพอ” และความไม่แน่นอนเช่นนี้อาจทำให้การตัดสินใจของระบบราชการเป็นอัมพาต หากเจ้าหน้าที่ระดับล่างเริ่มกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองในความริเริ่มใด ๆ ที่ไม่ได้รับการอนุมัติเบื้องต้นจากเบื้องบน
นักวิเคราะห์รายอื่น ๆ มองว่าการปลดฉิน กัง เป็นหนึ่งในเรื่องราวความล้มเหลวสำหรับปธน.สี ที่แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีจีนรายนี้เริ่มจะถูกโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อย ๆ
เอียน จอห์นสัน จาก the Council on Foreign Relations ให้มุมมองกับวีโอเอด้วยว่า “ทุกอย่างมันเกี่ยวกับแนวคิดของ(ปธน.)สี ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบควบคุม และเขาต้องการให้มีคนของเขามาแทนในตำแหน่ง” และว่าความพ่ายแพ้เหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจชะลอตัว และมีผู้นำสูงวัยที่รายล้อมไปด้วยพวกพ้อง “นั่นแปลความได้ว่าจีนที่มีอำนาจลดลงไป” นั่นเอง
- ที่มา: วีโอเอ