นักการทูตระดับสูงของจีน หวัง อี้ หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และรัสเซีย ในการพูดคุยนอกรอบที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่อินโดนีเซีย เมื่อวันพฤหัสบดี
เวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และคู่เจรจาสำคัญอย่างสหรัฐฯ รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย เริ่มต้นขึ้นแล้วที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในวันพฤหัสบดี โดยมีนักการทูตสำคัญจากอาเซียนและประเทศคู่เจรจาสำคัญเข้าร่วมอย่างคึกคึก
ที่น่าจับตา คือ การหารือนอกรอบ ระหว่างแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับ หวัง อี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งมาในฐานะตัวแทนของจีนในเวทีนี้
แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงเริ่มต้นก่อนการหารือนอกรอบที่กรุงจาการ์ตา แต่ถือเป็นหนึ่งในการมีปฏิสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานี้ ท่ามกลางจุดยืนที่ขัดแย้งในหลายประเด็น ตั้งแต่ไต้หวัน การค้า สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงสงครามที่รัสเซียบุกยูเครน
ขณะที่ นักวิเคราะห์มองว่าการพบกันของทั้งคู่ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปูทาง เพื่อการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในช่วงปลายปีนี้
อีกด้านหนึ่ง หวัง อี้ ยังได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ในวันเดียวกันนี้ด้วย และกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุถึงถ้อยแถลงของหวัง อี้ ในการประชุมนี้ด้วยว่าทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตาม “ฉันทามติสำคัญ” ในการคงการสื่อสารแลกเปลี่ยนในระดับสูง และเสริมสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน
จับตาหารือวิกฤตเมียนมา
คาดกันว่าในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันพฤหัสบดี จะมีการรับรองร่างแถลงการณ์เกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา แต่จนถึงค่ำวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นแล้ว ก็ยังไม่มีสัญญาณถึงแถลงการณ์ที่ว่าออกมาแต่อย่างใด
เมื่อวันพุธ อินโดนีเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียน เรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศในประชาคม ยังคงความเป็นหนึ่งเดียวกันในการจัดการกับสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาที่ยกระดับขึ้น และกดดันให้ผู้นำกองทัพเมียนปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ฝั่งมาเลเซีย เรียกร้องอาเซียนให้ประณามการกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งการใช้ความรุนแรงกับประชาชน และกดดันให้มีแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยวิกฤตเมียนมาที่รุนแรงขึ้นกว่านี้
ทั้งนี้ เจ้าหน้ากองทัพเมียนมาถูกสั่งห้ามร่วมประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาเซียน เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ออกโดยอาเซียน เพื่อคลี่คลายวิกฤตในเมียนมามีผลในทางปฏิบัติ
รอยร้าวในอาเซียนเริ่มเด่นชัด
ก่อนเวทีประชุมอาเซียนจะเริ่มขึ้น ภาพความแตกแยกภายในประชาคมอาเซียน เกี่ยวกับประเด็นเมียนมาเริ่มเด่นชัดขึ้น เมื่อไทยได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาและสมาชิกอาเซียนมาเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่พัทยา เมื่อเดือนก่อน โดยมีเป้าหมายในการ “กลับมามีส่วนร่วม” กับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม
และในวันพุธ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า เขาได้พบกับ ออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำเมียนมาที่ถูกโค่นอำนาจ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติรายแรกที่ได้เข้าพบเธอ นับตั้งเเต่ถูกคุมตัวหลังเกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อกว่า 2 ปีก่อน
ขณะที่รัฐบาลเงาของเมียนมา ที่เรียกตนเองว่า The National Unity Government (NUG) หรือ รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ เรียกร้องให้อาเซียนไม่ให้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมาจนกว่ากองทัพจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดเสียก่อน
ที่มา: รอยเตอร์