ธุรกิจต่างชาติเผชิญแรงกดดัน หวั่นการตรวจสอบจากรัฐบาลปักกิ่ง

FILE - A staff member wearing a face mask stands at a booth for the consulting firm PricewaterhouseCoopers (PwC) at the China International Fair for Trade in Services (CIFTIS) in Beijing, Sept. 5, 2020.

บริษัทต่างชาติในประเทศจีนกำลังเผชิญแรงกดดันจากรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ตั้งแต่นโยบายปราบคอร์รัปชัน การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และการตรวจสอบด้านอื่น ๆ ภายใต้มาตรการเพิ่มการควบคุมธุรกิจต่างประเทศที่รัฐบาลจีนนำมาใช้หลังการระบาดของโควิด

ปัจจุบัน รัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พยายามโน้มน้าวให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในจีน พร้อมไปกับการเพิ่มมาตรการควบคุมทางเศรษฐกิจ หลังจากที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งทะยอยย้ายการลงทุนไปประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย

หอการค้าสหภาพยุโรปในประเทศจีน มีแถลงการณ์ในวันศุกร์ว่า "ในช่วงเวลาที่จีนกำลังพยายามฟื้นความมั่นใจทางธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ มาตรการที่รัฐบาลจีนนำมาใช้กลับส่งสัญญาณที่ต่างออกไป"

แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เหมา หนิง ยืนยันว่า "จีนยินดีต้อนรับบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน เรายึดมั่นต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสมกับบริษัทต่างชาติ อิงกลไกตลาดและปฏิบัติตามหลักกฎหมายของจีน"

เวลานี้ ผู้นำจีน สี จิ้นผิง กำลังใช้นโยบายหลายอย่างเพื่อเพิ่มอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการควบคุมภาคธุรกิจ จัดการปัญหาคอร์รัปชันและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาติตะวันตกกำลังตึงเครียดเนื่องจากความไม่ลงรอยกันในด้านสิทธิมนุษยชน ไต้หวัน เทคโนโลยีและความมั่นคง

The closed office of the Mintz Group is seen in an office building in Beijing on March 24, 2023.

ในสัปดาห์นี้ บริษัทที่ปรึกษา เบน แอนด์ โค (Bain & Co.) เปิดเผยว่า ตำรวจได้เข้าไปสอบสวนพนักงานของบริษัทที่สำนักงานในเซี่ยงไฮ้ และเมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทตรวจสอบวิเคราะห์ มินต์ซ กรุ๊ป (Mintz Group) เผยว่า ตำรวจได้บุกเข้าไปในสำนักงานที่ปักกิ่งและจับกุมพนักงาน 5 คน

เมื่อเดือนมีนาคม ลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัทเวชภัณฑ์จากญี่ปุ่น แอสเตลลาส ฟาร์มา (Astellas Pharma Inc.) ถูกควบคุมตัวในข้อหาจารกรรม ซึ่งทางรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โยชิมาสะ ฮายาชิ ยื่นหนังสือประท้วงระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนนี้

เมื่อเดือนที่แล้วเช่นกัน รัฐบาลจีนประกาศว่าว่าจะมีการตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ไมครอน (Micron) จากหข้อกล่าวหาว่าอาจละเมิดกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีน

ในสัปดาห์นี้ จีนขยายขอบเขตของกฎหมายต่อต้านการจารกรรม โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางอิเลกทรอนิกส์ของบริษัทที่เข้าข่ายต้องสงสัยได้ ซึ่งรวมถึง เอกสารและข้อมูลหรือวัสดุสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

ในวันศุกร์ หอการค้าสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน แสดงความกังวลต่อกฎหมายดังกล่าวว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติได้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พนักงานของบริษัทต่างชาติที่จะเดินทางไปประเทศจีนต่างได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการนำคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่มีข้อมูลสำคัญติดไปด้วย เนื่องจากอาจถูกเจ้าหน้าที่จีนยึดไว้ หรือถูกขโมยเพื่อจารกรรมข้อมูลทางธุรกิจ

  • ที่มา: เอพี