ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อีซีบี ห่วงความบาดหมางสหรัฐฯ-จีน ทำศก.อ่อนแอ-เงินเฟ้อพุ่ง


FILE PHOTO: ECB President Lagarde attends a news conference following the ECB's monetary policy meeting in Frankfurt
FILE PHOTO: ECB President Lagarde attends a news conference following the ECB's monetary policy meeting in Frankfurt

ประธานธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี เตือนความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอและภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงต่อเนื่อง ตามรายงานของเอพี

คริสทีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ได้เตือนเมื่อวันจันทร์ว่าการแบ่งขั้วเป็นฝักฝ่ายขับเคี่ยวกันทางเศรษฐกิจโลก โดยมีสหรัฐฯ และจีนเป็นผู้นำ จะทำให้เศรษฐกิจโลกสั่นคลอน โดยจะเป็นภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงและทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ

ลาการ์ด กล่าวที่ Council on Foreign Relations ในนิวยอร์กว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1900 แสดงให้เห็นว่า “ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงอยู่เสมอ”

ประธานอีซีบี เสริมว่า ระหว่างที่ต้องรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ประเทศต่าง ๆ พยายามงดหรือลดการค้ากับประเทศคู่แข่งและหาสินค้าจากพันธมิตรแทน และว่าการตัดสัมพันธ์ด้านการค้าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก อย่างเช่นกรณีของยุโรป ที่พึ่งพาสินแร่หายากจากจีนราว 98% สำหรับการผลิตโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ลาการ์ด เตือนว่าหากระบบห่วงโซ่อุปทานต้องแบ่งแยกด้วยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อจะปรับขึ้นไปที่ 5% ในเวลาอันใกล้และ 1% ในระยะยาว

ลาการ์ด ซึ่งรับตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป ตั้งแต่ปี 2019 หลังจากดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ มาเป็นเวลา 8 ปี ยืนยันว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป เริ่มจะเห็นผลในการต่อสู้กับเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือยูโรโซนบ้างแล้ว โดยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 6.9% นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี และลดลงจากจุดสูงสุดที่ 10.6% ในเดือนตุลาคมปีก่อน

ในแง่ของการค้าระหว่างประเทศ ประธานอีซีบี ยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่ควรเพิกเฉยต่อบทบาทของค่าเงินดอลลาร์ในการเป็นสกุลเงินหลักของการค้าโลก แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่ถูกท้าทายจากค่าเงินสกุลใด แต่จีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ กำลังหาหนทางในการลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ซึ่งกำลังใช้อิทธิพลที่มีในการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะกับรัสเซีย หลังการส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อปีที่แล้ว

ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่แตกหักและขาดประสิทธิภาพ ลาการ์ดเห็นว่า สิ่งนี้จะทำให้ยากต่อธนาคารกลางทั่วโลกในการควบคุมเงินเฟ้อ และต้องการความช่วยเหลือจากผู้กำหนดนโยบายฝั่งรัฐบาล ในการหาหนทางควบคุมเงินเฟ้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานและนโยบายด้านการประหยัดพลังงาน

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG