ออสเตรเลียใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ สู้ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า

This undated handout picture released by the Department of Agriculture and Water Resources on April 4, 2017 shows exotic snakes and spiders (in clear boxes) on display after they were found in shoe boxes in a Melbourne mail room.

นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยการใช้วิธีการเอกซ์เรย์แบบ 3 มิติที่สนามบินและที่ทำการไปรษณีย์เพื่อตรวจจับสัตว์ที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในกระเป๋าเดินทางหรือในพัสดุไปรษณีย์ จากนั้นอัลกอริทึมจะทำการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทราบ

เทคโนโลยีนี้ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อระบุรูปร่างของสัตว์ที่ถูกลักลอบขาย

ทั้งนี้ ออสเตรเลียมีพืชและสัตว์ที่หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายอย่างดี

ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า จำนวนสัตว์มีชีวิตที่ถูกยึดโดย Australian Border Force เพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2017 โดยสัตว์เลื้อยคลานและนกของออสเตรเลียเป็นสัตว์ที่มีมูลค่าสูงในต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน มีการลักลอบนำสายสัตว์พันธุ์แปลก ๆ ไม่ว่าจะเป็นงูและเต่า เข้ามาในประเทศ ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงของการนำมาซึ่งโรคติดต่อและโรคภัยที่อาจคุกคามอุตสาหกรรมการเกษตรและระบบนิเวศพื้นเมืองอันเปราะบางได้

วาเนสซา พิรอตตา (Vanessa Pirotta) นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ป่าแห่งมหาวิทยาลัยแมคควารี (Macquarie University) ในนครซิดนีย์ กล่าวว่า "เรากำลังฝึกให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถสแกนหาสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบค้าขายทั้งทางพัสดุและในกระเป๋าเดินทาง โดยใช้การเอกซ์เรย์แบบ 3 มิติ ซึ่งในกรณีนี้เป็นการสแกนสัตว์ที่ตายแล้ว จากนั้น ก็จะสร้างห้องสมุดอ้างอิงขึ้นมาเพื่อแสดงรูปภาพสัตว์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถระบุได้ว่า เคยเห็นสัตว์นั้น ๆ มาก่อน

ออสเตรเลียตั้งเป้าที่จะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพด้วยแผนใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่

เหนือสิ่งอื่นใด แผนดังกล่าวยังรวมไปถึงการเพิ่มสัตว์และพืช 15 ชนิดเข้าไปในรายการสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อันเนื่องมาจากไฟป่า Black Summer ในปี 2019-2020 ตลอดจนการถางป่าด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลออสเตรเลียตั้งใจที่จะควบคุมผลกระทบของสัตว์ป่าที่มีความดุร้าย เช่น สุนัขจิ้งจอกและเสือชนิดต่าง ๆ และพืชต่างถิ่นรุกรานที่สร้างความเสียหายให้กับสัตว์ป่าพื้นเมืองอย่างคาดประมาณไม่ได้ โดยดำเนินยุทธศาสตร์ที่รวมความถึง การประกาศพื้นที่เกือบ 1 ใน 2 ของประเทศให้เป็นเขตอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ หลาย ๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษ ได้กำหนดเป้าหมายที่คล้ายกันนี้ไว้เช่นกัน

ทันยา พลีเบอร์เซค (Tanya Plibersek) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียซึ่งเคยเอ่ยว่า กลยุทธ์ก่อนหน้านี้ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพนั้นล้มเหลว กล่าวว่า ออสเตรเลีย เป็น “เมืองหลวงแห่งการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของโลก"

  • ที่มา: วีโอเอ