กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF พบสิ่งมีชีวิตใหม่ 224 สายพันธุ์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งครอบคลุมประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย และเมียนมาร์ ในปี 2020
สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกค้นพบนี้ รวมถึงลิงที่มีวงกลมสีขาวรอบดวงตา นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด รวมทั้ง กบ กะท่าง หรือนิวต์ ปลา และพืชต่าง ๆ อีก 155 สายพันธุ์
รายงานของ WWF ชี้ถึงความจำเป็นในการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และการค้นพบนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ในการมีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่ถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่า โรคภัย และอันตรายอื่น ๆ
เค โยคานันท์ (K. Yoganand) หัวหน้าฝ่ายสัตว์ป่าและอาชญากรรมสัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำโขงของกองทุนสัตว์ป่าโลกบอกกับรอยเตอร์ว่า สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้แสดงถึงผลผลิตที่งดงามจากวิวัฒนาการนับล้านปี แต่ในวันนี้สิ่งมีชีวิตดังกล่าวตกอยู่ภายใต้การคุกคามที่รุนแรง โดยมีหลาย ๆ ชนิดที่สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะได้รับการจำแนกสายพันธุ์
ลิงสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้เรียกว่า ค่างโพพา (Popa langur) ซึ่งได้ชื่อนี้มาจากการที่อาศัยอยู่บนเนินเขาของภูเขาไฟ Mt. Popa ของประเทศเมียนมาร์
นอกจากนี้ ยังพบต้นบีโกเนียชนิดใหม่ที่มีดอกสีแดงและมีผลคล้ายลูกเบอร์รี่ในบริเวณที่เป็นเนินเขาของเมียนมาร์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาเรื่องการทำเหมืองและการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย
กองทุนสัตว์ป่าโลกเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 3,000 สายพันธุ์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่ปี 1997 โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการวัดและตัวอย่างจากข้อมูลสาธารณะเพื่อเปรียบเทียบและระบุองค์ประกอบที่สำคัญของสัตว์และพืชที่ค้นพบใหม่
นักวิจัยกล่าวว่า การระบุสายพันธุ์ใหม่อาจเป็นเรื่องยากและบางครั้งต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันมากมายหลายวิธี อย่างเช่นในกรณีหนึ่ง นักวิจัยใช้เสียงร้องร่วมกับข้อมูลทางพันธุกรรมของกบ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างกบ Cardamom leaf-litter frog ซึ่งถูกพบในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าบนเทือกเขา Cardamom
อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์อาจพบได้ในมากกว่าหนึ่งประเทศ อย่างเช่น งูกินทากแฝดที่มีสีส้มสดใส
ลิงสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า “ค่างโพพา” ถูกจำแนกโดยการจับคู่ทางพันธุกรรม กระดูกหลายชิ้นที่รวบรวมได้เมื่อเร็ว ๆ นี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างกระดูกที่ค้นพบเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของประเทศอังกฤษ
กองทุนสัตว์ป่าโลกทำงานร่วมกับองค์กร Fauna and Flora International หรือ FFI ในการจับภาพค่างโพพาโดยการใช้กล้องดักถ่ายในปี 2018 โดย FFI ได้รายงานการค้นพบลิงชนิดดังกล่าวเมื่อปลายปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ค่างโพพาเป็นสัตว์ที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติในบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งคาดว่ามีลิงชนิดนี้เหลือรอดอยู่ในป่าเพียง 200 ถึง 250 ตัวเท่านั้น
- ที่มา: เอพี รอยเตอร์ และรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund)