รายงานขององค์กรคุ้มครองสัตว์ป่า World Wildlife Fund (WWF) ระบุว่า มลพิษ และต้นทุนในการทำความสะอาดของพลาสติกที่ผลิตภายในปี ค.ศ. 2019 อาจมีมูลค่าสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่อวัตถุดิบที่ดูเหมือน "ราคาถูก" นี้
รายงานของ WWF ชี้ว่า ต้นทุนของการผลิตพลาสติกดังกล่าว เทียบเท่าหรือสูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพี ของอินเดีย ในปี 2019 และว่า สังคมต่าง ๆ ได้ให้การสนับสนุนการใช้พลาสติกโดยไม่รู้ตัว
รายงานวิเคราะห์ชิ้นนี้นำปัจจัยต่าง ๆ เช่น มลพิษในชั้นบรรยากาศ ผลกระทบทางสุขภาพ การจัดการขยะ และผลกระทบทางนิเวศน์วิทยา มาร่วมพิจารณาต้นทุนของการผลิตพลาสติกทั่วโลกด้วย
รายงานที่มีชื่อว่า “Plastics: The Cost to Society, Environment and the Economy,” ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา Dalberg ชี้ว่า พลาสติกอาจดูเหมือนเป็นวัตถุดิบราคาถูกในมุมของราคาการตลาด แต่หากพิจารณาต้นทุนโดยรวมที่แท้จริงตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกแล้วจะพบว่าสูงมาก
รายงานบอกด้วยว่า หากไม่มีความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหานี้ ต้นทุนการผลิตพลาสติกในปี ค.ศ. 2040 อาจเพิ่มสูงถึง 7.1 ล้านล้านดอลลาร์
ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ประเมินว่ามีพลาสติกผลิตออกมาทั่วโลกราว 8,300 ล้านตัน โดย 60% ของพลาสติกเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในสถานที่ทิ้งขยะหรือกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยมีการค้นพบเศษพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วในปลาที่อยู่ใต้มหาสมุทรลึกและตามแถบขั้วโลก
คาดว่าเศษพลาสติกเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของนกทะเลและสัตว์น้ำมากกว่า 100,000 ตัวในแต่ละปี
โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ระบุว่า มีขยะพลาสติกราว 300 ล้านตันเกิดขึ้นในแต่ละปี และโลกของเรากำลังจะจมลงในมลพิษจากขยะพลาสติก