ศึกชิงความเป็นผู้นำโลกระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกจับตาดูอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ทั้งสองประเทศเดินหน้าผูกสัมพันธ์สร้างพันธมิตรในเอเชียอย่างแข็งขัน ด้วยการดำเนินนโยบายเดินทางเยือนและหยิบยื่นความช่วยเหลือต่างๆ มากมาย
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกเดินสายเยือนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งจะเสร็จสิ้นการเยือนภูมิภาคนี้ไปเมื่อก่อนหน้า ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสองประเทศมหาอำนาจในการช่วงชิงแรงหนุนจากรัฐบาลต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงขึ้น ขณะที่
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ประเทศที่มีขนาดเล็กทั้งหลายน่าจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทั้งจากจีนและสหรัฐฯ ต่อไปได้ ตราบใดที่ยังสามารถหลีกเลี่ยงไม่ทำให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งเคืองได้
ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชียน่าจะได้รับประโยชน์ในรูปของอุปกรณ์และการอบรมทางการทหารจากกรุงวอชิงตัน พร้อมๆ กับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากกรุงปักกิ่ง อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในทวีปยูเรเชีย ซึ่งจีนให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้มากมาย รวมทั้งความช่วยเหลือด้านวัคซีนโควิด-19 ที่ทั้งสองประเทศเร่งนำส่งให้ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา
อเล็กซานเดอร์ วูวิง ศาสตราจารย์จากศูนย์ Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies ซึ่งตั้งอยู่ในฮาวาย และเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ศึกช่วงชิงอำนาจอ่อน (Soft Power) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในเวลานี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อประเทศขนาดเล็กทั้งหลาย ที่เป็นเป้าหมายของการระดมอำนาจอ่อนที่ว่า แต่ขณะเดียวกัน โอกาสสำหรับประเทศเหล่านั้นจะกอบโกยผลประโยชน์จากศึกครั้งนี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ แล้ว
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รมต.หวังอี้ ของจีน เพิ่งเดินทางไปเยือนเวียดนาม ซึ่งเป็นจุดหมายแรกของแผนการเยือน 4 ประเทศ เพื่อหารือประเด็นการค้า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นทางการเมือง โดยฝั่งเวียดนามกล่าวว่า รัฐบาลกรุงฮานอย “ให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์กับจีนเป็นอันดับต้นๆ ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตน” ซึ่งจุดยืนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความตึงเครียดในด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งพยายามผลักดันสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งขึ้นกับเวียดนามมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017
การเดินทางเยือนเวียดนามของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ เวียดนามลงนามในข้อตกลงการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านกลาโหมจากญี่ปุ่นมาให้ตน โดยการเดินหมากดังกล่าวของเวียดนามถูกมองว่าเป็นการตอบโต้จีนที่พยายามทำการรุกคืบสร้างอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
การทูตวัคซีน
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศความพร้อมที่จะส่งวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ล้านโดสให้เวียดนาม พร้อมตกลงที่จะจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ในกรุงฮานอยด้วย
แต่ในระหว่างการเยือนเวียดนามครั้งนี้ รมต.หวังอี้ ได้สัญญาที่จะส่งมอบวัคซีนจำนวน 3 ล้านโดสให้รัฐบาลกรุงฮานอยเช่นกัน
ยุน ซุน ผู้อำนวยการร่วมของโครงการ East Asia แห่ง Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ประเทศแห่งนี้กำลังเป็นเป้าหมายของการแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอยู่
วีโอเอ ภาคภาษาเขมร รายงานเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยว่า จีนยังสัญญาที่จะส่งมอบวัคซีนจำนวน 3 ล้านโดสให้กับกัมพูชา ที่เพิ่งรับมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลกรุงปักกิ่งไป ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า กัมพูชานั้นโอนเอียงไปทางจีนมากกว่าสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด
เกมการสร้างสมดุล
นอกจากประเทศเพื่อนบ้านไทยทั้งสองแห่งที่กล่าวมาแล้ว รมต.หวังอี้ ของจีน เดินทางถึงสิงคโปร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากเผยแพร่ความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศว่า จีนนั้นหวังที่จะ “พัฒนาความร่วมมือ(กับสิงคโปร์)ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”
และขณะที่ ยุน ซุน ผู้อำนวยการรวมของโครงการ East Asia แห่ง Stimson Center ระบุว่า จีนและสหรัฐฯ ต่างมองว่า สิงคโปร์นั้น คือ ประเทศที่มีความเป็นกลางในเอเชีย อเล็กซานเดอร์ วูวิง จากศูนย์ Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies มองว่า สิงคโปร์และเวียดนาม ประสบความสำเร็จใน “การสร้างสมดุล” ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
ขณะเดียวกัน จีนและสหรัฐฯ เดินหน้าพุ่งเป้าไปยังฟิลิปปินส์ด้วย โดยทางรัฐบาลกรุงปักกิ่งเพิ่งสัญญาที่จะส่งมอบความช่วยเหลือให้กับรัฐบาลกรุงมะนิลา ซึ่งเพิ่งตกลงที่จะฟื้นฟูข้อตกลงความร่วมมือทางการทหาร Visiting Forces Agreement กับสหรัฐฯ ไปเมื่อเร็วๆ นี้ หลังกองทัพสหรัฐฯ ช่วยฝึกทหารฟิลิปปินส์เพื่อเตรียมรับมือกับปฏิบัติการใดๆ ของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นจุดพิพาทระหว่างสองประเทศอยู่
หากใกล้ชิดสหรัฐฯ เกินไป
ในกรณีที่ประเทศใดแสดงความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เกินไป จีนอาจดำเนินมาตรการที่เป็นสัญญาณความไม่พอใจออกมาได้เสมอ ดังเช่นในกรณีของเกาหลีใต้ ที่รมต.หวังอี้ มีกำหนดเยือนในวันอังคารและวันพุธ
สตีเฟน เนกี รองศาสตราจารย์อาวุโสด้านการเมืองและการศึกษาระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย International Christian University ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า หลังกรุงโซลบรรลุตกลงกับกรุงวอชิงตันที่จะติดตั้งระบบตรวจจับขีปนาวุธที่มีความสามารถตรวจสอบทั้งจีนและเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2017 กรุงปักกิ่งออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดกรุ๊ปทัวร์เที่ยวเกาหลีใต้ทันที ซึ่งส่งผลให้อัตรานักท่องเที่ยวจีนลดลงถึงสองหลักเลยทีเดียว
กระนั้นก็ตาม สตีเวน คิม นักวิชาการจากสถาบัน Jeju Peace Institute ในเกาหลีใต้ กล่าวว่า กรุงโซลเหมือนจะไม่หวั่นกับท่าทีของจีนเท่าใด เพราะเกาหลีใต้เพิ่งกลายมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความสามารถที่จะยิงขีปนาวุธนำวิถี จากเรือดำนำ “ที่ปฏิบัติการอย่างเงียบเชียบ” ของตนได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่จีนควรกังวลพอควร
สตีเฟน เนกี รองศาสตราจารย์ จากมหาวิทยาลัย International Christian University ให้ความเห็นว่า ในการเยือนเกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้ รมต.หวัง น่าจะหยิบยกประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยมีนัยชัดเจนให้กรุงโซลตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์กับจีนไว้ให้ดี
วิถีทางการทูตเชิงรุกต่อเนื่อง
การออกทัวร์นานาประเทศในเอเชียของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนครั้งนี้เกิดขึ้น หลัง ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเยือนสิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ในเดือนกรกฎาคม ก่อนที่ รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จะเยือนเวียดนามและสิงคโปร์เช่นกันเมื่อเดือนที่แล้ว และรัฐมนตรีกลาโหมของจีนออกเดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียในเดือนนี้
ยุน ซุน ผู้อำนวยการร่วมของโครงการ East Asia แห่ง Stimson Center กล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และจีน เร่งดำเนินแผนงานทางการทูตติดต่อกันอย่างหนักหน่วง ชี้ชัดว่า ทั้งสองมหาอำนาจกำลังเร่งระดับการช่วงชิงแรงหนุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งท้ายที่สุด อาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์มากมายสำหรับประเทศเล็กๆ ทั้งหลาย เพราะทั้งกรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตันคงไม่ยอมที่จะรอมชอมเพื่อให้ได้สิ่งที่ต่างต้องการอย่างแน่นอน