ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารข้องใจ 'ไทย' ช่วยทำสำมะโนประชากรเลือกตั้งเมียนมา


แฟ้ม - เจ้าหน้าที่ด้านสำมะโนประชากรเก็บข้อมูลที่นครย่างกุ้งเมื่อ 10 เม.ย. 2014 (AFP PHOTO / SOE THAN WIN)
แฟ้ม - เจ้าหน้าที่ด้านสำมะโนประชากรเก็บข้อมูลที่นครย่างกุ้งเมื่อ 10 เม.ย. 2014 (AFP PHOTO / SOE THAN WIN)

ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารเมียนมาออกมาวิจารณ์ความเป็นไปได้ที่ไทยจะช่วยเหลือกองทัพเมียนมาในการจัดทำสำมะโนประชากร สำหรับการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารให้คำมั่นว่าจะเกิดขึ้น แต่ผู้วิจารณ์มองว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไร้ความชอบธรรม

สื่อเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน USAGM เช่นเดียวกับวีโอเอ รายงานโดยอ้างอิงจากสื่อรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ระบุว่า การสนับสนุนของทางการไทยในการจัดทำสำมะโนประชากร วันที่ 1-15 ตุลาคม เป็นการหารือที่เกิดขึ้นระหว่างนายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา โก โก และมิน จาย รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมา เมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

จอ ซอ โฆษกรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ประกอบด้วยฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหาร บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ประชาคมโลก รวมทั้งไทย ควรมุ่งเน้นการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนและเสถียรภาพของเมียนมา ไม่ใช่การสนับสนุนแผนการ “อันไร้ความชอบธรรม” ของรัฐบาลทหารเมียนมา และว่า “ถึงเวลาที่ประชาคมระหว่างประเทศควรร่วมสนับสนุนพลเมืองเมียนมา และการต่อต้านของพลเมืองเมียนมาต่อกองทัพเผด็จการ และเตรียมพร้อมสำหรับยุคหลังรัฐบาลทหาร”

ทางสถานทูตไทยประจำเมียนมาและกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไม่ได้ตอบกลับการขอความเห็นของเรดิโอฟรีเอเชีย ในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

ที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงกดดันคู่ขัดแย้งในเมียนมาให้หันมาร่วมแก้ปัญหาอย่างสันติ ทว่าการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มแข็งข้อต่อต้านกลับยกระดับรุนแรงขึ้นและนำมาซึ่งความปราชัยของกองทัพเมียนมาในหลายพื้นที่

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2025 แต่ยอมรับว่าการเลือกตั้งอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ หากขาด “สันติภาพและเสถียรภาพ”

ฝ่ายผู้วิจารณ์มองว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้ถูกมองว่าเป็นการจัดฉากขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร และมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก เนื่องจากมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ถูกสั่งยุบและไม่มีสิทธิ์ลงเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคเอ็นแอลดี ของออง ซาน ซู จี ที่ถูกทหารยึดอำนาจเมื่อปี 2021

ปัจจุบัน สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีหลายคน รวมทั้งซู จี ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐบาลทหาร และมีสมาชิกพรรคจำนวนมากที่เข้าร่วมกับพันธมิตรกลุ่มแข็งข้อต่อต้านและกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังสู้รบกับกองทัพเมียนมาในหลายพื้นที่ของประเทศ

ด้านผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับกองทัพอารกัน ปฎิเสธความเป็นไปได้ในการจัดทำสำมะโนประชากรและการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ จากดินแดนที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์นี้ครอบครองอยู่ และว่าความพยายามในการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาจะเป็นการยกระดับการต่อสู้

  • ที่มา: เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA)

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG