รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศโครงการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งที่สัญญาไว้ว่าจะมีขึ้นในปีหน้า ท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้ในหลายพื้นที่ของเมียนมา อ้างอิงจากรายงานของสื่อรัฐบาลทหาร
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศในวันอาทิตย์ว่า การสำรวจสำมะโนประชากรจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการจัดเลือกตั้งทั่วประเทศในปีหน้า
"การสำรวจสำมะโนประชากรสามารถนำไปใช้ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการจัดเลือกตั้งแบบหลายพรรคอย่างเสรีและยุติธรรมตามแนวทางประชาธิปไตย" พลเอก มิน อ่อง หล่าย กล่าวทางโทรทัศน์ในวันอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้ถูกมองว่าเป็นการจัดฉากขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร และมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก เนื่องจากมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ถูกสั่งยุบและไม่มีสิทธิ์ลงเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (National League for Democracy) ของออง ซาน ซู จี ที่ถูกทหารยึดอำนาจเมื่อปี 2021
ปัจจุบัน สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีหลายคน รวมทั้งซู จี ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐบาลทหาร และมีสมาชิกพรรคจำนวนมากที่เข้าร่วมกับพันธมิตรกลุ่มแข็งข้อต่อต้านและกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังสู้รบกับกองทัพเมียนมาในหลายพื้นที่ของประเทศ
เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศว่า พรรคการเมือง 27 พรรคที่ลงทะเบียนเลือกตั้งปีหน้า ต่างร่วมประณามกลุ่มแข็งข้อต่อต้าน
ไม่นานนี้ สภาที่ปรึกษาพิเศษแห่งเมียนมา (Special Advisory Council for Myanmar) มีรายงานว่า รัฐบาลทหารได้สูญเสียการครอบครองหลายหมู่บ้านทางภาคเหนือและภาคตะวันตก
และเมื่อต้นปีนี้ คนหนุ่มสาวหลายพันคนได้ลี้ภัยออกจากเมียนมาหลังจากที่รัฐบาลทหารได้ออกกฎหมายบังคับให้คนหนุ่มสาวเกณฑ์ทหารเพื่อทดแทนกำลังพลที่อ่อนแอลงไปจากการสู้รบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เดือนที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เดินทางเยือนเมียนมาและพบหารือกับพลเอก มิน อ่อง หล่าย พร้อมสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสำหรับกระบวนการจัดทำสำมะโนประชากร เพื่อ "การเลือกตั้งอย่างครอบคลุมครบถ้วน"
แต่ทางรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ประกอบด้วยฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหาร ได้ออกมาขอร้องให้ประชาคมโลกร่วมประณามการเลือกตั้งและการจัดทำสำมะโนประชากรในครั้งนี้
- ที่มา: รอยเตอร์