ในเวลานี้ มีสัตว์และพืชกว่า 45,000 สายพันธุ์ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูญพันธ์ หลังมีการเพิ่มรายชื่อสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่ว่าเข้ามาอีกกว่า 1,000 ชื่อในปีที่แล้ว ตามข้อมูลจากองค์กรอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าระหว่างประเทศที่โทษการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก สายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ว่าเป็นต้นตอของปัญหานี้
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) เปิดเผยรายงาน Red List of Threatened Species ฉบับล่าสุดออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี และเนื้อหาในรายงานที่มีการตีพิมพ์มาเป็นปีที่ 60 นี้เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับสัตว์และพืชที่เผชิญความเสี่ยงว่าจะสูญพันธุ์ พร้อม ๆ กับเรื่องราวความสำเร็จในความพยายามอนุรักษ์พันธ์สัตว์และพืชต่าง ๆ ด้วย
เทรนด์โซเชียลคือหนึ่งในปัจจัยทำให้เกิดการสูญพันธุ์
หนึ่งในประเด็นที่ IUCN ระบุในรายงานฉบับล่าสุดนี้คือ สื่อสังคมออนไลน์ที่มีบทบาททำให้สัตว์และพืชบางชนิดเผชิญภาวะเสี่ยงสูญพันธ์ เช่น ในกรณีของกระบองเพชรโคเปียโป (Copiapoa) ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของทะเลทรายริมชายฝั่งอตาคามา (Atacama) ในประเทศชิลี ที่มีผู้นำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันมานานแล้ว จนเป็นที่นิยมจนเกิดการลักลอบค้าโดยผิดกฎหมายที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้สะสมและคลั่งไคล้พืชไม้ประดับและผู้ค้าต่าง ๆ นำกระบองเพชรนี้มาเสนอทางสื่อโซเชียล
รายงานดังกล่าวระบุว่า 82% ของสายพันธุ์สัตว์และพืชต่าง ๆ ทั้งหมด 163,040 สายพันธุ์นี้ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 6,000 ชื่อ กำลังเผชิญภาวะความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ โดยสัดส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงการก้าวกระโดดของความรุนแรงของสถานการณ์นี้อย่างมาก เมื่อเทียบกับสถิติ 55% ในปี 2013
IUCN กล่าวว่า ในกรณีของกระบองเพชรโคเปียโปนั้น เป็นเพราะความนิยมที่พุ่งสูงในยุโรปและเอเชียที่ต้องการพืชพันธุ์นี้ไปใช้เป็นไม้ประดับมากขึ้น โดยมีทั้งขบวนการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายและพรานเถื่อนเป็นผู้ช่วยทำให้สถานภาพของพืชนี้เลวร้ายลง ด้วยการใช้ประโยชน์จากถนนหนทางและการขยายตัวของเมืองในพื้นที่อตาคามา (Atacama) ที่มีการพัฒนาขึ้นมาก
พาโบล กเวร์เรโร สมาชิกของกลุ่มงานด้านพืชของ IUCN ให้ความเห็นว่า “การจะแยกแยะว่า กระบองเพชรโคเปียโป ต้นไหนถูกลักลอบนำออกมา (จากทะเลทราย) หรือถูกปลูกในเรือนกระจก เป็นเรื่องที่ง่าย” และว่า “กระบองเพชรโคเปียโปที่ถูกลักลอบตัดมาจะมีโทนสีเทาและมีผิวนอกที่ดูคล้ายถูกเคลือบดอกเล็กจิ๋วจนดูเหมือนฝุ่นที่ช่วยปกป้องตัวต้นจากสภาพอากาศทะเลทรายที่แห้งที่สุดบนโลก ขณะที่ ต้นที่ถูกปลูกขึ้นมาจะดูเขียวสดกว่า”
การอัพเดทข้อมูลในปี 2024 นี้ยังตอกย้ำถึงความเสี่ยงของช้างเอเชียในบอร์เนียว ในฐานะสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ โดย IUCN ประเมินว่า ในเวลานี้ มีช้างบอร์เนียวในธรรมชาติเหลือเพียงราว 1,000 ตัว
รายงานนี้อธิบายว่า ประชากรช้างบอร์เนียวหดตัวลงอย่างหนักในช่วงกว่า 75 ปีที่ผ่านมาเพราะการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้ที่อยู่อาศัยของช้างหายไป ขณะที่ ภาวะความขัดแย้งของคน การสูญเสียพื้นที่ป่าให้กับการทำการเกษตร การทำเหมืองและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การรุกล้ำป่า และการใช้สารเคมีทางการเกษตร ล้วนเป็นสาเหตุของการหดตัวของประชากรช้างที่นี่
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สัตว์เลื้อยคลานประจำถิ่นหลายสายพันธุ์ก็เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงสูญพันธุ์ เช่น กิ้งก่ายักษ์และจิ้งเหลน บนหมู่เกาะคานารี (Canary Islands) และอิบิซา โดยมีสาเหตุจากสัตว์นักล่าต่าง ๆ เช่น งูต่างถิ่นรุกราน
เรื่องราวการหลุดพ้นความเสี่ยงสูญพันธุ์
อีกด้านหนึ่ง ความพยายามด้านอนุรักษ์ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรแมวป่าลิงซ์ (Lynx) ในไลบีเรีย ไม่ให้เสี่ยงสูญพันธุ์อีกต่อไป หลังมีการเพิ่มจำนวนประชากรแมวป่าพันธุ์นี้จาก 62 ตัวในปี 2001 มาเป็น 648 ตัวในปี 2022 และกว่า 2,000 ตัวในปัจจุบัน
ทั้งนี้ แมวป่าลิงซ์เคยถูกจัดให้เป็นแมวป่าที่เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก หลังจำนวนประชากรหดตัวถึง 87% และจำนวนลิงซ์ตัวเมียก็หดหนักถึงกว่า 90% ระหว่างปี 1985 และปี 2001 ตามข้อมูลจากองค์กร International Society for Endangered Cats
การฟื้นฟูประชากรแมวลิงซ์นี้เริ่มต้นที่การแก้ไขปัญหาถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประชากรเหยื่อหลักของแมวป่าพันธุ์นี้ ซึ่งก็คือ กระต่ายสายพันธุ์ยุโรป รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมของแมวลิงซ์ด้วยการนำไปเลี้ยงในพื้นที่ใหม่ ๆ และนำไปเพาะพันธุ์ในสภาพแวดล้อมปิด
IUCN เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา มีการนำแมวลิงซ์ไลบีเรียจำนวนกว่า 400 ตัวไปปล่อยไว้ที่โปรตุเกสและสเปนแล้ว
อย่างไรก็ดี ฟรานซิสโก ฮาเวียร์ ซัลเชโด ออร์ติซ ผู้นำโครงการอนุรักษ์แมวลิงซ์ไลบีเรีย กล่าวว่า แมวป่าพันธุ์นี้ยังเผชิญกับภัยคุกคามที่ยังคงอยู่ ซึ่งก็คือ ประชากรเหยื่อที่ขึ้น ๆ ลง ๆ การลักลอบจับและการถูกชนตายบนถนน ดังนั้น “จึงยังมีงานต้องทำอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่า ประชากรแมวลิงซ์ไลบีเรียจะอยู่รอดได้ต่อไป”
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น