บนเกาะบาร์เทอร์ (Barter Island) ในเมืองคักโทวิก (Kaktovik) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอลาสกา ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 300 คน บรรยากาศที่คุ้นตาในช่วงบ่ายของฤดูใบไม้ร่วงก็คือ การได้เห็นฝูงห่านหิมะแวะกินฝ้ายอาร์ติก ก่อนที่จะอพยพไปทางตอนใต้ และภาพเหล่าหมีขั้วโลกที่หิวโหยคอยตามกินเศษอาหารที่เหลือมาจากวาฬนักล่า
แต่ในห้วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่คลุกคลีในบริเวณนี้ชี้ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล
โรเบิร์ต ทอมป์สัน ชนพื้นเมืองอินนูเปียต (Inupiat) และไกด์ท่องป่า เล่าว่า เมื่อตอนที่เขามายัง Kaktovik ครั้งแรก เขายังเห็นน้ำแข็งได้ในตลอดช่วงฤดูร้อน โดยมีลักษณะเป็นแพ็คน้ำแข็ง (pack ice) หรือน้ำแข็งที่เซ็ตตัวแบบไม่ละลาย แต่เมื่อไม่นานมานี้ กลับมีพื้นที่น้ำความยาว 700 ไมล์ (1,127 กิโลเมตร) ที่ทอดไปทางขั้วโลกเหนือ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการละลายของน้ำแข็งที่ส่งผลกระทบต่อพวกหมีขั้วโลกด้วย
ทางด้าน ท็อดด์ แอทวูด นักชีววิทยาวิจัยธรรมชาติ จากสำนักงานสำรวจทางภูมิศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (United States Geological Survey - USGS) ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า แหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหมีขั้วโลกได้หายไปแล้ว ซึ่งการอันตรธานของถิ่นที่อยู่อาศัยนี้หมายถึง หมีขั้วโลกอาจต้องอาศัยอยู่กับน้ำแข็งในทะเลลึกที่หดหายไปเรื่อย ๆ หรือทำให้ประชากรหมีที่กำลังขยายตัวขึ้นต้องว่ายน้ำเข้าฝั่ง
แต่ขณะที่สถิติที่นักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกไว้ชี้ว่า แม้เหล่าหมีขั้วโลกสามารถว่ายน้ำได้ไกลถึง 350 กิโลเมตรในช่วงระยะเวลาหลายวัน ทอมป์สันกลับมองว่า หมีที่ว่ายน้ำได้แข็งอย่างมากก็อาจไม่รอดชีวิตจากความท้าทายนี้ได้
ขณะเดียวกัน ท็อดด์ แอทวูด นักชีววิทยาวิจัยธรรมชาติ จาก USGS ชี้ว่า พื้นที่น้ำแข็งที่หดหายหมายถึง โอกาสการออกล่าแมวน้ำเป็นอาหารของหมีขั้วโลกที่ลดลงไปด้วย
แอทวูด อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำแข็งส่งผลให้พฤติกรรมการหาอาหารของหมีขั้วโลกเปลี่ยนไป และสิ่งที่มีผู้พบเห็นกันก็คือ การที่ฝูงหมีจำนวนหลายสิบตัวรุมกินซากของวาฬหัวคันศรแทนที่จะออกล่าอาหาร
ความเปลี่ยงแปลงที่ส่งต่อเป็นลูกโซ่นี้กำลังสร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้คนในท้องถิ่นด้วย จนทางการต้องแจ้งเตือนให้ผู้คนระวังหมีขั้วโลกมากขึ้น ขณะที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนนับร้อยรายการ เกี่ยวกับการรุกรานของหมีที่เข้ามาก่อกวนในบริเวณที่พักอาศัย หรือบริเวณที่มีกิจกรรมของผู้คน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และประชากรหมีในพื้นที่
การวิจัยที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์ของ USGS ระบุว่า ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 จำนวนหมีขั้วโลกทางตอนใต้ของทะเลโบฟอร์ตลดลงถึง 40%
แอทวูด นักชีววิทยาเสริมว่า “หากไม่มีน้ำแข็งในทะเล ก็จะไม่มีหมีขั้วโลก” หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกมันเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สัมพันธ์ต่อการคงอยู่ของเหล่าสัตว์ป่า
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดอันดับให้หมีขั้วโลกเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่มีความเปราะบางและเผชิญการคุกคามจากการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลมากที่สุด โดยคาดว่า หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากรหมีขั้วโลกจากจำนวนทั่วโลกที่เหลืออยู่ประมาณ 26,000 ตัว อาจจะเหลืออยู่เพียงไม่กี่ตัวภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ก็เป็นได้
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น