ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเอ็นชี้ 1 ใน 3 ของธารน้ำแข็งหลักของโลกจะอันตรธานภายในปี 2050


FILE - Large icebergs float away as the sun rises near Kulusuk, Greenland, Aug. 16, 2019.
FILE - Large icebergs float away as the sun rises near Kulusuk, Greenland, Aug. 16, 2019.

การศึกษาครั้งใหม่ขององค์การสหประชาชาติให้ข้อสรุปว่า หนึ่งในสามของธารน้ำแข็งที่สำคัญ ๆ ของโลกจะละลายหายไปภายในปี 2050 ด้วยอัตราการละลายในปัจจุบัน

การศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ทำขึ้นโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ภายใต้ความร่วมมือกับสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยการวิจัยนี้มุ่งศึกษาธารน้ำแข็งในแหล่งมรดกโลก 50 แห่งขององค์การยูเนสโก

แหล่งมรดกโลกดังกล่าวเป็นที่ตั้งของธารน้ำแข็ง 18,600 แห่ง ครอบคลุมระยะทางประมาณ 66,000 กิโลเมตร และคิดเป็นอัตราส่วนเกือบ 10% ของธารน้ำแข็งบนโลก

นักวิจัยกล่าวว่า ธารน้ำแข็งตามแหล่งมรดกโลกเหล่านี้ได้ละลายหายไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2000 เนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำให้อุณหภูมิโลกที่อุ่นขึ้น

นอกจากนี้ นักวิจัยยังมีรายงานว่า ปัจจุบันธารน้ำแข็งดังกล่าวสูญเสียน้ำแข็งปีละ 58,000 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่ประเทศฝรั่งเศสและสเปนใช้รวมกันในปีหนึ่ง ๆ ซึ่งมีส่วนที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 5% อีกด้วย

ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งในแหล่งมรดกโลกนั้น รวมไปถึงธารน้ำแข็งที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับยอดเขาเอเวอเรสต์ในเทือกเขาหิมาลัย ที่เขตพรมแดนของประเทศเนปาลและจีน นอกจากนี้ ยังมีธารน้ำแข็งที่ยาวที่สุดที่พบในอลาสกา และธารน้ำแข็งสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ของแอฟริกา ซึ่งรวมถึงอุทยานแห่งชาติคิลิมันจาโรและภูเขาเคนยา ส่วนธารน้ำแข็งในยุโรปและละตินอเมริกาก็ดูเหมือนว่ากำลังจะละลายหายไปด้วยเช่นกัน

รายงานการศึกษานี้มีข้อสรุปว่า ธารน้ำแข็งในแหล่งมรดกโลกมีแนวโน้มที่จะละลายหายไปในอีก 28 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะมีความพยายามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิก็ตาม โดยนักวิจัยกล่าวด้วยว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาธารน้ำแข็งในพื้นที่ 2 ใน 3 ที่เหลือไว้ได้ หากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

นอกจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างมากแล้ว ยูเนสโกยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการเฝ้าระวังและอนุรักษ์ธารน้ำแข็งอีกด้วย โดยกองทุนดังกล่าวจะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวาง และเป็นหน่วยงานส่งเสริมเครือข่ายการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมทั้ง ทำหน้าที่ดำเนินมาตรการเตือนภัยล่วงหน้าและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้วย

รายงานนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมาเพียงสามวันก่อนการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (COP27) ที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ซึ่ง ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกกล่าวว่า รายงานดังกล่าว “เป็นการเรียกร้องให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้” และเธอได้ทวีตข้อความออกมาว่า “มีเพียงการลดระดับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างรวดเร็วเท่านั้นที่จะสามารถช่วยธารน้ำแข็งและความหลากหลายทางชีวภาพอันแสนพิเศษซึ่งต้องพึ่งพาธารน้ำแข็งเหล่านั้น”

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG