อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดเผยในวันพุธว่า ได้ยื่นเรื่องขอหมายจับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา สำหรับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากข้อกล่าวหาว่าได้ทำการประหัตประหารชาวโรฮีนจาซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ตามรายงานของรอยเตอร์
รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์ที่ส่งให้กับรอยเตอร์ว่า เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาโลกและไม่ยอมรับคำแถลงทั้งหลายของศาลนี้
ชาวโรฮีนจานับล้านคนได้หลบหนีไปยังบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้รอดพ้นปฏิบัติการโจมตีของกองทัพเมียนมาที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2017 และเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่สอบสวนของสหประชาชาติระบุว่า เป็นตัวอย่างตามตำราของการล้างชาติพันธุ์
เจ้าหน้าที่สอบสวนของสหประชาชาติกล่าวหา ทหาร ตำรวจและผู้นับถือศาสนาพุทธในเมียนมา ได้ทำลายล้างหมู่บ้านนับร้อยแห่งในพื้นที่รัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศ และทำการทรมานชาวบ้านที่พยายามหนีตาย รวมทั้งทำการสังหารหมู่และข่มขืนกระทำชำเราหมู่
เมียนมาปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านี้ และกล่าวว่า กองกำลังด้านความมั่นคงดำเนินปฏิบัติการที่ถูกกฎหมายในการจัดการกับกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีที่มั่นของตำรวจ
รอยเตอร์รายงานว่า ในเวลานี้ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายที่มีสภาพมอซอในบังกลาเทศ
โมฮัมเหม็ด ซูแบร์ นักวิจัยด้านโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ กล่าวว่า “เขา [มิน อ่อง หล่าย] รับผิดชอบควบคุมสั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาผู้บริสุทธิ์” และว่า “ภายใต้การบัญชาการของเขา ทหารฆ่าชาวโรฮีนจาหลายพันคนและทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงนับไม่ถ้วนต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ”
นิโคลัส คูมจิอัน หัวหน้าคณะสอบสวนอิสระในเมียนมาของสหประชาชาติซึ่งช่วยศาลอาญาโลกในการสืบสวนคดีนี้ กล่าวว่า การร้องขอหมายจับ “บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางทหารในเมียนมา ส่งสารที่ชัดเจนไปยังผู้ก่อกรรมทำเข็ญว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย”
จากนี้ คณะตุลาการที่มีสมาชิก 3 คนจะตัดสินว่า “มีเหตุผลที่เหมาะสม” ที่จะเชื่อว่า มิน อ่อง หล่าย ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวกลับประเทศและการประหัตประหารชาวโรฮีนจาในเมียนมาและบังกลาเทศ” หรือไม่
ทั้งนี้ ไม่มีกำหนดเวลาว่า ตุลาการศาลอาญาโลกต้องตัดสินเรื่องนี้เมื่อใด แต่ปกติแล้ว กระบวนการนี้มักใช้เวลาราว 3 เดือนก่อนจะมีการตัดสินว่าจะออกหมายจับหรือไม่
การขอหมายจับนี้เกิดขึ้น ขณะที่ สำนักงานอัยการศาลอาญาโลกกำลังเผชิญแรงกระแทกทางการเมืองอย่างหนักหน่วงจากรัฐบาลกรุงวอชิงตันและหลายประเทศ จากการออกหมายจับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู และโยอาฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น