รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจเพิ่มความช่วยเหลือให้กับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงจาในเมียนมา หลังสมาชิกหลายแสนคนของประชาชนกลุ่มนี้ต้องหลบหนีการปราบปรามด้วยมาตรการรุนแรงไปยังประเทศบังคลาเทศหรือต้องกลายมาเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ นับตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2017 มา
แถลงการณ์โดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เงินทุนก้อนใหม่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มให้นี้มีมูลค่า 155 ล้านดอลลาร์ และมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงจา และชุมชนต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้ในบังคลาเทศ รวมทั้งชาวโรฮิงจาที่พลัดถิ่นอยู่และผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ในเมียนมาด้วย
รมต.บลิงเคน ยังยืนยันด้วยว่า “ความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ จะช่วยตอบสนองความต้องการอันเร่งด่วนของผู้ลี้ภัยเกือบ 900,000 คนในบังคลาเทศ ซึ่งรวมถึงเด็กและผู้หญิง ที่ต้องหลบหนีเหตุความรุนแรงอันน่ากลัวในรัฐยะไข่ของเมียนมา”
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตชาวโรงฮิงจาในเมียนมาเมื่อ 4 ปีที่ก่อน สหรัฐฯ ได้นำส่งความช่วยเหลือเป็นมูลค่าถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว พร้อมประกาศว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าให้การช่วยเหลือทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ที่ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงจาเป็นลำดับต้นๆ ด้วย
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติเพิ่งประกาศระดมทุนจำนวน 943 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยผู้อพยพชาวโรงฮิงจา จำนวนกว่า 880,000 คน และชาวบังคลาเทศอีกประมาณ 472,000 ล้านคน
รายงานข่าวชี้ว่า โอกาสที่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจาจะได้กลับสู่บ้านของตนในเร็วๆ นี้ยังต่ำอยู่มาก ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมายังคงอยู่ในภาวะวิกฤตการเมืองและทางสังคม หลังกองทัพก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ทั้งนี้ รมต.บลิงเคน ของสหรัฐฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมาหลายรายที่มีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหาร มีส่วนรับผิดชอบ ต่อการข่มเหงรังแกชาวโรงฮิงจาด้วย