ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจารำลึกครบรอบ 7 ปีการหนีตายออกจากเมียนมา


ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจายืนรวมตัวท่ามกลางสายฝนที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2567 พร้อมถือธงชาติเมียนมาไว้ ในวันครบรอบ 7 ปีของการหนีตายออกมา และเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือให้พวกตนสามารถเดินทางกลับรัฐยะไข่ ในเมียนมา ได้อย่างปลอดภัย
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจายืนรวมตัวท่ามกลางสายฝนที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2567 พร้อมถือธงชาติเมียนมาไว้ ในวันครบรอบ 7 ปีของการหนีตายออกมา และเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือให้พวกตนสามารถเดินทางกลับรัฐยะไข่ ในเมียนมา ได้อย่างปลอดภัย

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจำนวนหลายหมื่นคนที่ทิ้งเมียนมาออกอาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ออกมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงการครบรอบ 7 ปีของการหลั่งไหลอพยพออกมาจากบ้านเกิด พร้อมเรียกร้องให้มีการช่วยเปิดทางให้พวกตนเดินทางกลับไปยังรัฐยะไข่อย่างปลอดภัยด้วย

กลุ่มผู้อพยพมารวมตัวกันที่กลางทุ่งแห่งหนึ่งในค่ายคูตูปาลอง ในเขตคอกซ์บาซาร์ (Cox's Bazar) ของบังกลาเทศ พร้อมชูป้ายและถือพวงระย้าที่ประกอบเป็นคำพูดว่า Hope is Home (ความหวังก็คือบ้าน) และ We Rohingya are the citizens of Myanmar (เราชาวโรฮีนจาคือพลเมืองเมียนมา) ท่ามกลางสายฝนที่ตกกระหน่ำในวันที่ถูกบันทึกให้เป็น “วันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา”

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2017 ผู้ลี้ภัยนับแสนคนเดินเท้าหรือล่องเรือจากเมียนมาข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ เนื่องจากเกิดการเข่นฆ่าโดยไม่เลือกหน้าและเหตุการณ์ความรุนแรงไปทั่วรัฐยะไข่

แฟ้มภาพ - เด็ก ๆ ชาวโรฮีนจาที่ข้ามแดนจากเมียนมามาลี้ภัยที่บังกลาเทศ รอการแจกจ่ายอาหารของหน่วยงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งหนึ่งของตุรกี ให้กับเด็กและสตรี เมื่อ 21 ต.ค. 2560
แฟ้มภาพ - เด็ก ๆ ชาวโรฮีนจาที่ข้ามแดนจากเมียนมามาลี้ภัยที่บังกลาเทศ รอการแจกจ่ายอาหารของหน่วยงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งหนึ่งของตุรกี ให้กับเด็กและสตรี เมื่อ 21 ต.ค. 2560

ทั้งนี้ เมียนมาเริ่มปฏิบัติการปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างโหดเหี้ยม หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าใส่ป้อมทหารหลายแห่ง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ประชาคมโลก ซึ่งรวมถึง องค์การสหประชาชาติกล่าวหาว่า เมียนมาทำการล้างชาติพันธุ์และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ในครั้งนั้น อดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา ของบังกลาเทศ สั่งให้หน่วยรักษาความเรียบร้อยตามแนวชายแดนเปิดทางให้ชาวโรฮีนจากว่า 700,000 คน เข้ามาหลบภัยในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามได้ แต่ตัวเลขการหลั่งไหลครั้งนั้นทำให้จำนวนผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ที่มีอยู่แล้วกว่า 300,000 คน พุ่งขึ้นเป็นหลักล้านไปโดยปริยาย

ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา บังกลาเทศได้พยายามอย่างน้อย 2 ครั้งที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเมียนมา และได้ร้องขอให้ประชาคมโลกช่วยกดดันรัฐบาลเมียนมาในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยภายในประเทศเพื่อช่วยรับคนเหล่านี้กลับไป โดยอดีตนายกฯ ฮาซีนา ยังได้ขอให้จีนมาช่วยไกล่เกลี่ยด้วย

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ในรัฐยะไข่กลับยิ่งผันผวนหนักขึ้น เมื่อกลุ่มที่เรียกตนเองว่าเป็น กองทัพอาระกัน เริ่มต่อสู้กับกองทัพเมียนมา ซึ่งทำให้มีผู้ลี้ภัยมายังบังกลาเทศและประเทศอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

ชาวโรฮีนจานับร้อยยืนรวมตัวท่ามกลางสายฝน ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเขตคอกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ เพื่อเรียกร้องโอกาสให้เดินทางกลับบ้านเกิดที่รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา โดยปลอดภัย เมื่อ 25 ส.ค. 2567
ชาวโรฮีนจานับร้อยยืนรวมตัวท่ามกลางสายฝน ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเขตคอกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ เพื่อเรียกร้องโอกาสให้เดินทางกลับบ้านเกิดที่รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา โดยปลอดภัย เมื่อ 25 ส.ค. 2567

และขณะที่ ผู้ลี้ภัยในค่ายต่าง ๆ ของบังกลาเทศจัดงานรำลึกครบรอบ 7 ปีของการจากบ้านเกิดมาอยู่นี้ องค์การสหประชาชาติและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิต่าง ๆ ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา

องค์กร Refugees International ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ออกแถลงการณ์ในวันอาทิตย์ที่มีเนื้อความว่า “ในรัฐยะไข่ การต่อสู้ที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาและกองทัพอาระกันในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวโรฮีนจาตกอยู่ในที่นั่งลำบากและตกเป็นเป้าไปด้วย” และว่า “รัฐบาลทหารได้บีบบังคับให้ชาวโรฮีนจามาร่วบรบ และทำการทิ้งระเบิดเข้าใส่หมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการตอบโต้ ชาวโรฮีนจานับหมื่นคนต้องกลายมาเป็นผู้ผลัดถิ่น และหลายคนก็พยายามหนีภัยไปยังบังกลาเทศด้วย”

องค์การยูนิเซฟเปิดเผยว่า ได้รับรายงานอันน่าตกใจมากมายว่า พลเรือน โดยเฉพาะเด็กและครอบครัวต่าง ๆ ตกเป็นเป้าหรือไม่ก็ตกเป็นเหยื่อของการสู้รบจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตมากมาย ทั้งยังทำให้การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในรัฐยะไข่เป็นความท้าทายอย่างที่สุด

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG