ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์เตือน ปมอดีตรมต. ‘ฉิน กัง’ หายตัว เสี่ยงกระทบระบบการเมืองจีน


รัฐมนตรีต่างประเทศ ฉิน กัง เข้าร่วมการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีอันนาเลนา แบร์บอค (ไม่ปรากฏในภาพนี้) ที่กรุงปักกิ่งของจีน 14 เมษายน 2023
รัฐมนตรีต่างประเทศ ฉิน กัง เข้าร่วมการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีอันนาเลนา แบร์บอค (ไม่ปรากฏในภาพนี้) ที่กรุงปักกิ่งของจีน 14 เมษายน 2023

การปลดและปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง ที่ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมานานหลายสัปดาห์มานี้ สร้างความกังขาถึงชะตากรรมของเขา ตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองของจีน ที่นักวิเคราะห์มองว่าจะสั่นคลอนบทบาทของจีนในเวทีโลกอย่างมาก

ชะตากรรมของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ฉิน กัง ที่ยังคงไม่มีใครทราบแน่ชัด หลังรัฐบาลจีนที่สั่งปลดฟ้าฝ่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนรายนี้ และดึงตัว หวัง อี้ นักการทูตระดับสูงสุดของจีน กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เห็นว่าความคลุมเครือในการถอดถอนอดีตรมต.ฉิน กัง ออกจากตำแหน่ง จะลดความเชื่อมั่นของจีนในเวทีโลก และเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจทำให้ระบบการปกครองของจีนเป็นอัมพาตได้

ฉิน กัง ปฏิญาณตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง ก่อนที่เขาจะถูกปลดจากตำแหน่ง เมื่อ 25 กรกฎาคม 2023
ฉิน กัง ปฏิญาณตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง ก่อนที่เขาจะถูกปลดจากตำแหน่ง เมื่อ 25 กรกฎาคม 2023

อัลเฟรด วู ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจาก National University of Singapore หรือ NUS เปิดเผยกับวีโอเอว่า ระบบการปกครองของจีนกำลังได้รับความเสียหาย “เมื่อการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในระบบหมดไป ก็จะบีบให้จีนต้องพึ่งพาการตัดสินใจของคน ๆ เดียวทั้งหมด และอาจมี "เซอร์ไพรส์" มากมายที่อาจทำให้ระบบสั่นคลอนได้ในที่สุด”

หลังจากการถอดถอนจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน กระทรวงต่างประเทศจีนได้ลบข้อมูลที่เกี่ยวกับฉินออกจากเว็บไซต์ของกระทรวงทั้งหมด แต่ในเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นของจีน เนื้อหาของบันทึกการประชุมบางส่วนของเขากลับมาอีกครั้ง นักวิเคราะห์ต่างบอกว่าสิ่งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงของจีน และว่าผู้นำระดับสูงของรัฐบาลจีนยังคงมองว่ากรณีของฉินนั้นเป็นปัญหาต่อประเทศอยู่

วู เสริมว่า “พวกเขาไม่รู้ว่าจะจัดการเรื่องการปลดฉินออกจากตำแหน่งอย่างเหมาะสมได้อย่างไร และมันแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวของเขายังไม่ได้รับการสะสาง”

ฉิน กัง นักการทูตวัย 57 ปีของจีน เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจที่สุดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่การไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนนับตั้งแต่วาระการหารือกับทางการเวียดนามและศรีลังกาเมื่อ 25 มิถุนายนเป็นต้นมา และทั่วโลกพยายามหาเงื่อนงำที่จะช่วยอธิบายการสิ้นวาสนาของดาวรุ่งแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายนี้

หลังจากทางการจีนระบุว่าการหายตัวไปของเขาเป็น “ปัญหาด้านสุขภาพ” ในช่วงแรก แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธในประเด็นดังกล่าวในอีกไม่กี่วันต่อมา ขณะที่การขาดคำอธิบายเพิ่มเติมยิ่งสร้างการคาดเดาไปต่าง ๆ นา ๆ บนโลกออนไลน์ของจีนและกับทั่วโลก

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เหมา หนิง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง 26 กรกฎาคม 2023
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เหมา หนิง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง 26 กรกฎาคม 2023

ระหว่างการแถลงข่าวของกระทรวงต่างประเทศจีนเมื่อวันพุธ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เลี่ยงที่จะตอบคำถามหลายครั้งที่เกี่ยวกับฉินและการปลดเขาจากตำแหน่ง แต่เธอได้ย้ำซ้ำ ๆ กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเนื้อหาตามแถลงการณ์สั้น ๆ ของทางการจีนและในรายงานที่เผยแพร่ทางสำนักข่าวซินหัวแทน และการตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นที่ว่านี้ไม่ได้ปรากฏในเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศจีนอีกด้วย

นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่าการที่รัฐบาลจีนไม่เต็มใจที่จะให้คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปลดฉินจากตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แค่ "ปัญหาสุขภาพ"

ชาง อู-เยห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจาก Tamkang University ในไต้หวัน กล่าวกับวีโอเอว่า “ปักกิ่งไม่ควรทำลับ ๆ ล่อ ๆ เกี่ยวกับเหตุผลของจากปลดเขาออกไปหากมันเป็นแค่ประเด็นด้านสุขภาพ” และว่าความจริงที่ว่าฉินยังคงมีตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ (state councilor) หมายความว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ได้สรุปการสอบสวนประเด็นที่แท้จริงของฉินเลย

มุมมองที่แตกต่าง

การปลดฉิน กัง มาในช่วงเวลาสำคัญสำหรับจีนที่พยายามขยายอิทธิพลไปทั่วโลก และความพยายามประสานสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯ อีกครั้ง

วู จาก NUS คิดว่าการปลดฉินและการขาดคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะยิ่งทำให้ประเทศประชาธิปไตยคลางแคลงใจจีนในฐานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้ โดยเขาหยิบยกการสำรวจล่าสุดจากสถาบันวิจัย Pew Research Center ที่ชี้ว่ามุมมองเชิงลบต่อจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศตอนนี้ ซึ่งการจัดการเรื่องของฉินจะยิ่งสร้างมุมมองที่ไม่ดีต่อจีนในกลุ่มประเทศรายได้สูงขึ้นไปอีก

ขณะที่ในภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย หรือ Global South ซึ่งนิยมชมชอบจีนมากกว่าตามการสำรวจของ Pew Research Center การปลดฉินกะทันหันอาจไม่ให้ผลเชิงลบมากนัก มอริตซ์ รูดอล์ฟ จากศูนย์ศึกษาด้านจีน Paul Tsai China Center แห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าวเสริมด้วยว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศเหล่านี้คือจีนสามารถให้สิ่งที่ต้องการในการรักษาสัมพันธ์กับพวกเขาได้หรือไม่ และพวกเขาสามารถรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มั่นคงกับจีนได้หรือไม่”

ส่วนประเด็นการแต่งตั้งหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้ง วู จาก NUS มองว่ารัฐบาลปักกิ่งต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่มีประสบการณ์จะเข้ามาควบคุมนโยบายต่างประเทศของจีนได้ “สำหรับจีนแล้ว มันสมเหตุสมผลที่นักการทูตระดับสูงสุดจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนักการทูตเบอร์ 2 ได้ และพวกเขาคิดว่าโลกภายนอกจะพึงพอใจกับการปรับคณะทำงานครั้งนี้”

ผู้นำอันโดดเดี่ยว

บทบาทที่ตกต่ำลงไปอย่างปริศนาของฉิน กัง ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ซึ่งสร้างคำถามมากมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ “การปกครองโดยคนเดียว” ในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพราะไม่กี่วันมานี้ สื่อจีนรายงานการเสียชีวิตของผู้บัญชาการทหารจีน 2 ราย แต่การเปิดเผยข่าวที่ล่าช้าและคำอธิบายที่คลุมเครือเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพวกเขาได้ทำให้เกิดข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงแพร่สะพัดไปทั่ว

นักวิเคราะห์บางรายบอกว่า เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึง “ความคลุมเครือของการเมืองภายใน” ระบบการปกครองของจีน

นีล โธมัส จาก Asia Society Policy Institute ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “การเมืองภายในของกลุ่มชนชั้นนำนั้นเป็นความลับเสียจนแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศอาจจะไม่ได้รับทราบถึงสถานการณ์ของฉินได้ดีพอ” และความไม่แน่นอนเช่นนี้อาจทำให้การตัดสินใจของระบบราชการเป็นอัมพาต หากเจ้าหน้าที่ระดับล่างเริ่มกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองในความริเริ่มใด ๆ ที่ไม่ได้รับการอนุมัติเบื้องต้นจากเบื้องบน

นักวิเคราะห์รายอื่น ๆ มองว่าการปลดฉิน กัง เป็นหนึ่งในเรื่องราวความล้มเหลวสำหรับปธน.สี ที่แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีจีนรายนี้เริ่มจะถูกโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อย ๆ

เอียน จอห์นสัน จาก the Council on Foreign Relations ให้มุมมองกับวีโอเอด้วยว่า “ทุกอย่างมันเกี่ยวกับแนวคิดของ(ปธน.)สี ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบควบคุม และเขาต้องการให้มีคนของเขามาแทนในตำแหน่ง” และว่าความพ่ายแพ้เหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจชะลอตัว และมีผู้นำสูงวัยที่รายล้อมไปด้วยพวกพ้อง “นั่นแปลความได้ว่าจีนที่มีอำนาจลดลงไป” นั่นเอง

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG