รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเอกสารการจัดตั้งประเทศสหรัฐอเมริกามีเนื้อหาว่าด้วยการปกครองของรัฐบาลที่แบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ประธานาธิบดีหรือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และฝ่ายตุลาการที่ประกอบด้วยศาลสูงและศาลต่าง ๆ โดยแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายที่เหลือเพื่อให้เกิดสมดุล และการแยกหน้าที่รับผิดชอบนี้ก็เป็นหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตยของชาวอเมริกัน
โรนัดล์ เชน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ว่า “เรากำลังก้าวเข้าสู่ดินแดนที่ไม่เคยมีใครคุ้นเคย เพราะการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ดูจะเต็มใจอย่างยิ่ง ถ้าได้รับเลือกเป็นผู้ชนะอีกครั้ง ที่จะลองสำรวจพื้นที่ภายนอกอาณาเขตที่ประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ไม่เคยไปถึงมาก่อน”
ประเด็นนี้ที่ว่านี้เป็นการอ้างอิงถึงคำพูดที่ทรัมป์เคยกล่าวระหว่างการหาเสียงในปีนี้ว่า “ผมแค่ต้องการเป็นเผด็จการดูสัก 1 วัน และผมก็จะเป็นเผด็จการดูสักวัน” โดยยืนยันว่า ตนจะไม่เป็นผู้นำเผด็จการเกิน 1 วัน
แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประธานาธิบดีคนถัดไปพยายามจะใช้อำนาจเกินกว่าที่มีขึ้นมา
ศาสตราจารย์เชน กล่าวว่า ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ใน 3 ผู้ดูแลอธิปไตยของประเทศพยายามจะทำการหักหาญและใช้อำนาจเหนือฝ่ายอื่น ๆ ขึ้นมา ไม่มีใครบอกได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ จะแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์เช่นนั้นได้หรือไม่
ทั้งนี้ ประเด็นที่ทรัมป์พูดถึงการลองเป็นเผด็จการได้ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงของพรรคเดโมแครตทันที
ในโฆษณาหาเสียงของรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ทางแพลตฟอร์มอินสตาแกรม แคนดิเดตตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้กล่าวว่า “เขา(ทรัมป์) บอกอย่างเปิดเผยว่า เขาจะเป็นเผด็จการในวันแรกเลย”
และหนึ่งในสารหลักของแผนงานหาเสียงของแฮร์ริสคือ ทรัมป์ คือ ภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย และพรรคเดโมแครตก็ย้ำเตือนความจำของประชาชนเกี่ยวกับการที่ทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2020 ที่นำไปสู่เหตุการณ์จลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2021
ในการกล่าวปราศรัยเมื่อไม่นานมานี้ แฮร์ริส กล่าวว่า “(การต่อสู้)ของเรา คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เราพบเห็นการโจมตีรุนแรงเข้าใส่เสรีภาพและสิทธิ์ที่ได้มาอย่างยากลำบากและต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ได้มา เกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้าในประเทศของเราอยู่”
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ที่รอดชีวิตมาจากการการลอบสังหารเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาก็ใช้ประเด็นนี้มายืนยันว่า ตนต่างหากคือผู้ปกป้องประชาธิปไตย
อย่างเช่นในการหาเสียงครั้งหนึ่ง ทรัมมป์กล่าวว่า “พวกนั้นพูดกันแต่ว่า “เขาเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย” ผมขอพูดว่า ผมไปทำบ้าอะไรให้ประชาธิปไตย? สัปดาห์ที่แล้ว ผมเพิ่งรับกระสุนเพื่อ(ปกป้อง)ประชาธิปไตยไปเอง”
แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนั้นก็ไม่ได้เชื่อในประเด็นโต้เถียงว่า ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในภัยอันตรายเสียทีเดียว
คริส เอเดลสัน จาก American University กล่าวว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้คุยกับบางคนเกี่ยวกับเรื่องที่มีคนพูดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามจะล้มล้างประชาธิปไตย และคนกลุ่มนั้นก็มองว่า ทรัมป์ “ไม่ได้ทำอะไรอย่างนั้น”
ส่วน เดวิด รามาดัน จาก George Mason University ชี้ว่า ในกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งนั้นเชื่อกันอยู่ว่า ระบบการปกครองประเทศที่มีอยู่ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้วและการถ่ายโอนอำนาจก็เกิดขึ้นตามปกติ ดังนั้น สถานการณ์ของประเทศจึง “ปกติดีอยู่”
ขณะเดียวกัน เคิร์ท ไวย์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองระบอบเผด็จการและประชาธิปไตย จากมหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส วิทยาเขตออสติน กล่าวว่า การที่ผู้นำสายประชานิยมจะทำลายประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ไวย์แลนด์ กล่าวว่า สถานการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ “หากมีความอ่อนแอของสถาบันบางสถาบันขึ้นจริง และเกิดโอกาสที่เปิดทางพิเศษบางอย่างขึ้นมา (ให้เกิดการทำลายระบอบประชาธิปไตยได้)” พร้อมแสดงความมั่นใจว่า เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ได้เลย
ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังกล่าวด้วยว่า มีปัจจัยอยู่หลายอย่างที่ขีดเส้นจำกัดประธานาธิบดีไม่ให้ยึดอำนาจทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จได้ ซึ่งรวมความถึงผู้ที่อยู่ในหน่วยราชการรับใช้ประชาชนที่ทำหน้าที่โดยสุจริต โดยยกตัวอย่างกรณีของ เลขานุการรัฐจอร์เจีย แบรด รัฟเฟนส์เพอร์เกอร์ ที่ปฏิเสธไม่ยอมพลิกกลับผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 เมื่อทรัมป์ขอให้เขาช่วยหาคะแนนเสียงเพิ่มให้ตน
ไวย์แลนด์ กล่าวว่า “ประชาธิปไตยของอเมริกานั้นแข่งแกร่งและมีความสามารถกลับฟื้นคืนสภาพได้” พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ทั้งชาวอเมริกันและผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ นั้นมุ่งมั่นที่จะรักษาสิ่งนี้ไว้อย่างแน่นอน”
ท้ายสุด ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้นำทั้งหลายอาจมีโอกาสที่ดีกว่าถ้าจะทำลายประชาธิปไตย เมื่อได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นมหาศาล ด้วยคะแนนความนิยมสูงเกินกว่า 70% ซึ่งสูงกว่าคะแนนสูงสุดที่ทรัมป์เคยได้ที่ 49% และไบเดนเคยได้รับที่ 57% อย่างมาก
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น