สื่อหลายแห่งรายงานข่าวกรณีการประกาศพักโทษของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หลังเข้ารับโทษคุมขังไม่กี่เดือน โดยมีการคาดการณ์ว่า น่าจะได้รับการปล่อยตัวภายในสุดสัปดาห์นี้เป็นอย่างเร็ว
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ในวันอังคาร นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กล่าวถึงการพักโทษอดีตนายกฯ ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศเป็นเวลา 15 ปีก่อน พร้อมรายงานว่า นายทักษิณรับโทษโดยไม่ต้องใช้เวลาในเรือนจำแม้แต่ 1 คืนและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งจากเหตุผลด้านสุขภาพที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมา
รายงานข่าวอ้างคำพูดของเศรษฐาด้วยว่า “ท่านนายก ฯ ทักษิณเอง ก็เป็นนายกรัฐมนตรีมาหลายปี และเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมายาวนาน เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมชมชอบสูงที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ท่านเองก็ออกมาแล้วเป็นประชาชนคนธรรมดา”
แต่รอยเตอร์ระบุว่า แม้นายทักษิณจะได้การพักโทษ อดีตนายกฯ วัย 74 ปีผู้นี้ ยังคงอาจถูกคุมขังต่อไปได้ เพราะอัยการกำลังพิจารณาอยู่ว่า จะยื่นฟ้องในข้อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2558
ส่วนสื่ออัลจาซีรา รายงานว่า กพักโทษในครั้งนี้ เกิดขึ้น หลังอดีตนายกฯ ทักษิณถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปีจากความผิดในข้อหาคอร์รัปชันเมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษลดการจำคุกเหลือ 1 ปี
ขณะที่ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานโดยอ้างสื่อต่าง ๆ ว่า นายทักษิณคือ 1 ในผู้ต้องโทษจำนวน 930 คนที่ได้รับการพักโทษในครั้งนี้ และพูดถึงการเดินทางกลับไทยในปีที่แล้วที่นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงกับกองทัพที่ให้เกิดขึ้น หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปและนายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แม้พรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นรองจากพรรคก้าวไกลก็ตาม
สื่อเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ที่ติดตามรายงานข่าวนี้กล่าวว่า การกลับมาไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณหลังลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศมาหลายปีมาพร้อมกับข้อสังเกตว่า อาจมีการตกลงกันในเรื่องลดระยะเวลารับโทษไว้ก่อนแล้ว และกระแสข่าวลือเรื่องนี้ก็ดังหนาหูขึ้น เมื่อนายทักษิณได้รับการย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่กี่ชั่วโมงหลังศาลมีคำตัดสินลงโทษออกมา และทำให้มีการพูดว่า เป็นผู้ต้องขังที่ไม่เคยต้องใช้เวลาในห้องขังเลย
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การที่อดีตนายกฯ ผู้นี้ที่ถูกมองว่า เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสถาบันชั้นสูงของไทย กลับได้อิสรภาพในวันนี้ อาจเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของการปรับเปลี่ยนของขั้วอำนาจในไทยที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของการประจัญหน้ากันของตระกูลชินวัตรและผองพวก และกลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันซึ่งมีทั้งฝ่ายกองทัพ ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ต่าง ๆ และฝ่ายที่ใกล้ชิดกับวัง
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระที่เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองที่มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกกับ วีโอเอ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในแง่หนึ่งชี้ให้เห็นว่า “หลักนิติธรรม ซึ่งหากมีอยู่จริง สามารถบิดเบี้ยวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ทางการเมืองของผู้ที่อยู่ในอำนาจ ณ เวลาหนึ่ง ๆ ... แต่ในอีกแง่หนึ่ง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า มีความยืดหยุ่นในการเมืองของไทยที่จะหาปลดแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกหนักมานานได้”
ขณะเดียวกัน ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับสื่อเอพีว่า อดีตนายกฯ ทักษิณยังคงเป็นผู้คุมบังเหียนอยู่และอยู่เบื้องหลังในเรื่องต่าง ๆ แต่พรรคเพื่อไทยนั้นก็มีอำนาจและอิทธิพลที่ไมมากเหมือนเก่า ทำให้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้จะทำการอย่างไรต่อไป
- ที่มา: รอยเตอร์, อัลจาซีรา, ไฟแนนเชียลไทมส์, เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์, เอเอฟพี และเอพี
- หมายเหตุ: แก้ไขข่าวในย่อหน้าที่สองเพื่อระบุที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน
กระดานความเห็น