ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทักษิณยกย่องก้าวไกล 'ผู้ท้าทายระบบ' - นักวิเคราะห์เตือนกรณียุบพรรค


In this March 9, 2016 file photo, Thailand's former Prime Minister Thaksin Shinawatra responds to questions during a news interview in New York. (AP Photo/Frank Franklin II, File)
In this March 9, 2016 file photo, Thailand's former Prime Minister Thaksin Shinawatra responds to questions during a news interview in New York. (AP Photo/Frank Franklin II, File)

ในวันอังคาร อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กล่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ คลับเฮาส์ ยกย่องพรรคก้าวไกลว่าเป็น 'ผู้ท้าทายระบบ' หรือ disruptor ผู้เชี่ยวชาญในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ พร้อมกล่าวว่า นายพลของกองทัพผู้เป็นจุดศุนย์กลางของความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ควรเกษียณการทำงานอย่างมีเกียรติได้แล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานถึงคำพูดของทักษิณ ซึ่งกล่าวว่า พรรคก้าวไกลแสดงให้เห็นแล้วว่า โซเชียลมีเดียและเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้เอง หรือ UGC (user-generated content) นั้นสามารถเอาชนะการหาเสียงแบบทุ่มเงินและการซื้อเสียงได้

"พรรคก้าวไกลทำตัวเองเหมือนบริษัทเอสเอ็มอี ไม่ต้องทำสินค้าให้เนี้ยบเหมือนแบรนด์ดัง ๆ แต่ทำให้ถูกใจ ตรงใจลูกค้าถูกใจ จนบริษัทใหญ่ ๆ เจ๊งไป เรื่องนี้เป็นการตลาดแบบใหม่ คนเก่า ๆ อาจไม่เข้าใจ หรือแม้แต่พรรคใหม่คนเก่าก็ไม่เข้าใจ เพื่อไทยแม้จะเป็นพรรคใหญ่ก็ต้องเรียนรู้ เรื่องนี้ถึงทำให้ก้าวไกลเขา ถึงมีหัวคะแนนธรรมชาติเยอะ ไม่ต้องใช้เงินใช้ทองอะไรมากกว่า" ทักษิณกล่าวในคลับเฮาส์

อดีตนายกฯ ยังยอมรับด้วยว่า พรรคเพื่อไทยยังดิสรัปตัวเองไม่มากพอ ทำให้พ่ายแพ้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามรายงานของรอยเตอร์

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และพรรคพันธมิตรอื่น ๆ อีก 4 พรรค ด้วยเสียง 310 เสียงในสภาผู้เเทนที่มีทั้งหมด 500 ที่นั่ง แต่ความพยายามดังกล่าวอาจมีตัวเเปรที่ยืนขวางอยู่จากวุฒิสภา 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้การเป็นผู้นำฝ่ายบริหารต้องได้เสียงสนับสนุนในการประชุมร่วมสองสภารวมทั้งหมด 376 เสียง

ทักษิณยังได้ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าตนมีข้อตกลงลับกับผู้นำรัฐบาลชุดก่อนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยบอกว่า เป็นความพยายามลดความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยโดยใช้ไอโอในโลกออนไลน์ พร้อมให้ความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ควรยุติบทบาททางการเมืองอย่างมีเกียรติได้แล้ว

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานความเห็นของ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า "นี่คือกระแสโต้กลับซึ่งหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นการปฏิเสธระบอบทหารในประเทศไทย เป็นการคัดค้านการปกครองของทหารในทางการเมือง"

"หากผลที่ออกมายังคลุมเครือ หรือพรรคที่มีทหารหนุนหลังได้ที่นั่งมากกว่านี้ เราอาจเห็นการแทรกแซงเกิดขึ้นได้ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ชัดเจนอย่างยิ่งและยากที่จะพลิกกลับ" ศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าว พร้อมเสริมว่า หากมีความพยายามคว่ำผลการเลือกตั้ง จะนำไปสู่ความเดือดดาลและการประท้วงของประชาชน

ด้าน ซูซานนาห์ แพตตัน ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบัน Lowy กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า การเกิดรัฐประหารอีกครั้งนั้นมีต้นทุนสูงเกินไป แต่ก็เตือนว่ายังไม่สามารถตัดกรณีการยุบพรรคก้าวไกลออกไปได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

"การยุบพรรคจะเป็นการตัดสินใจที่ร้ายแรง ดังนั้นหากว่า มีหนทางอื่นที่กีดกันพรรคก้าวไกลออกไปได้โดยไม่ต้องมีการยุบพรรค บรรดานักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมน่าจะเลือกแนวทางนั้นมากกว่า เพราะไม่ใช่แนวทางที่แข็งกร้าวเกินไปจนกลายเป็นการล้มล้างความปรารถนาของประชาชนที่แสดงออกมา"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้ย้ำกับซีเอ็นเอ็นว่า ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการยุบพรรคขึ้น

  • ที่มา: รอยเตอร์ ซีเอ็นเอ็น และวีโอเอ
XS
SM
MD
LG