ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: นโยบายตปท.ไบเดน ก่อนแคมเปญเลือกตั้งปธน.เดินหน้าเต็มที่


ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน

ตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เน้นหนักไปที่แนวทางต่อจีน และสงครามในยูเครนหลังการบุกของรัสเซีย จนกระทั่งเกิดสงครามในกาซ่าเมื่อเดือนตุลาคม

บรรยากาศด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกเหล่านี้ชวนให้คิดถึงผลงานการทูตของไบเดนในสายตาชาวอเมริกันที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า

สิ่งที่ประชาชนสนใจน่าจะมาจากบทสรุปของสถานการณ์โลกปีนี้ที่มีภาพความสูญเสียจากสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งเป็นบททดสอบนโยบายต่างประเทศของไบเดน

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า "ภาวะผู้นำของสหรัฐฯ คือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวโลกไว้ พันธมิตรของอเมริกาคือสิ่งที่ทำให้เรายังคงปลอดภัย ค่านิยมอเมริกันคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นหุ้นส่วนที่ประเทศอื่น ๆ อยากร่วมงานด้วย"

ไบเดนยังคงสนับสนุนยูเครน ในการความขัดเเย้งกับรัสเซียที่ดำเนินมาสองปีแล้ว

แต่ขณะนี้เงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ กำลังถูกสกัดกั้นโดยนักการเมืองพรรครีพับลิกันที่เรียกร้องให้มีนโยบายดูเเลชายแดนที่เเข็งขันกว่านี้

ในเรื่องที่เกี่ยวกับจีน ผู้นำสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายขับเคี่ยวกับทางการปักกิ่ง แต่ก็ไม่ได้หลุดกรอบจนไปถึงขั้นที่สองประเทศอยู่ในความขัดเเย้งโดยตรง

สหรัฐฯ เเข็งขันกับจีนในเรื่องความมั่นคงและเทคโนโลยี โดยรัฐบาลกรุงวอชิงตันเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับหลายประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและยุโรป

โรเบิร์ต ดาลีย์ ผู้อำนวยการสถาบันคิสซินเจอร์ด้านความสัมพันธ์จีนและสหรัฐฯ แห่ง Wilson Center กล่าวว่า "เรามีฐานทัพที่เราใช้ได้เพิ่มขึ้นในฟิลิปปินส์สี่แห่ง เราเป็นตัวเชื่อมให้กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้... ในเวลานี้ นาโต้มีภารกิจที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก"

ดาลีย์ยังได้กล่าวถึงการผนึกความสัมพันธ์ในกลุ่ม Quad ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีบย และออสเตรเลีย และกลุ่ม AUKUS ที่ประกอบด้วยออสเตรเลีย สหรัฐฯ และอังกฤษ ตลอดจนแผนเพิ่มงบประมาณกลาโหมของญี่ปุ่น ซึ่งต่างช่วยยืนยันผลงาน "ที่ดีเยี่ยม" ของสหรัฐฯ

โฆษกด้านความมั่นคงของทำเนียบขาวจอห์น เคอร์บี กล่าวว่านโยบายต่างประเทศสหรัฐฯที่เห็นในปีนี้จะดำเนินต่อไปในปีหน้า ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการบริหารงานภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสหรัฐฯ ในสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสกำลังถูกสอดส่อง และเหตุการณ์ในกาซ่าสร้างความสลับซับซ้อนต่อการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่างประเทศ

และที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สงครามที่กำลังเกิดขึ้นในกาซ่าเป็นสิ่งที่ไบเดนต้องขบเเก้ เมื่อเขากำลังเดินทางเข้าสู่ปีแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า ซึ่งเขาต้องการเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย

เอ็มมา แอชฟอร์ด นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์ Stimson Center กล่าวว่า "สาธารณชนกำลังเบื่อหน่ายกับนโยบายต่างประเทศเชิงรุก.... มันจะยากมากขึ้นเรื่อย ๆ" ที่จะสนับสนุนวาระด้านการต่างประเทศที่เเตกต่างและหลากหลายต่อไปจากนี้

เธอกล่าวว่าในที่สุดสหรัฐฯ จะต้องเลือกว่าจะทำอะไรและไม่ทำอะไรในอีกปีหรือสองปีจากนี้

ตามปกตินโยบายต่างประเทศไม่ใช่ปัจจัยตัดสินว่าคนอเมริกันจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดี แต่ผู้ที่เป็นตัวเต็งจากพรรครีพับลิกันในการลงเลือกตั้งปีหน้า คืออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแนวทางแตกต่างจากโจ ไบเดนอย่างเห็นได้ชัด

โดยทรัมป์ยังเป็นที่จดจำจากนโนบาย "America First" ที่มีเป้าหมายอันดับเเรกคือความปลอดภัยและความเจริญของสหรัฐฯ ในขณะที่ข้องเกี่ยวกับประเด็นต่างประเทศและดำเนินกิจกรรมกับประเทศอื่น ๆ น้อยลง

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG