Your browser doesn’t support HTML5
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่ในวันจันทร์ โดยเปลี่ยนแปลงบางส่วนของคำสั่งห้ามประชาชนจากบางประเทศเข้าสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว หลังจากศาลมีคำสั่งยับยั้งกฎดังกล่าว
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กล่าวว่า "คำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และเป็นหน้าที่ของผู้นำสหรัฐฯ ที่ต้องปกป้องประชาชน"
การนำเสนอมาตรการใหม่นี้แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลรับทราบถึงจุดบกพร่องของคำสั่งฉบับเก่าที่ออกมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม และจุดชนวนกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ว่ารัฐบาลของทรัมป์กำลังกีดดันชาวมุสลิมยังคงแสดงความคิดเห็นคัดค้าน
วุฒิสมาชิกอเมริกันเชื้อสายไทย แทมมี่ ดักเวิร์ธ จากพรรคเดโมแครตออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า "เช่นเดียวกับการห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศก่อนหน้านี้ คำสั่งใหม่ครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อศัตรู ด้วยการเปิดประเด็นที่สามารถถูกใช้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และสร้างเรื่องที่ผิดไปในทำนองที่ว่าสหรัฐฯ เกลียดชาวมุสลิม"
ฝ่ายกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ยืนยันว่าคำสั่งนี้ไม่ได้เป็นการห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศในรูปแบบใดๆ
สำหรับความแตกต่างของคำสั่งฉบับใหม่ที่สำคัญ ประกอบด้วย การถอนชื่อประเทศอิรักออกจากรายชื่อประเทศที่ประชาชนของประเทศนั้นไม่สามารถเข้าสหรัฐฯ ได้ชั่วคราว ทำให้เหลือ 6 ประเทศที่ถูกระบุในคำสั่งล่าสุด ได้แก่ อิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน
และมาตรการใหม่ยังไม่มีผลทันทีจนกว่าวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งต่างจากคำสั่งก่อนหน้าที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ให้โอกาสผู้ที่ได้รับผลกระทบเตรียมตัว
ความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ คำสั่งล่าสุดจะไม่มีผลกับผู้ที่ถือ Green Card หรือใบเขียว และนักท่องเที่ยวจาก 6 ประเทศที่มีวีซ่าถูกต้องมาก่อน
นอกจากนั้นในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่ ไม่มีการห้ามผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเข้าสหรัฐฯ อย่างไม่มีกำหนด และไม่มีการใช้ภาษาที่ว่ากลุ่มผู้ที่จะได้รับการพิจารณามากกว่ากลุ่มอื่นจะเป็น “ชนกลุ่มน้อยด้านศาสนา” ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นการเปิดช่องให้สิทธิ์พิเศษต่อผู้ขอลี้ภัยที่เป็นชาวคริสต์
การที่ประเทศอิรักไม่ถูกรวมอยู่ในคำสั่งห้ามฉบับใหม่อีกต่อไป เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่อิรักให้สัญญาว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการคัดกรอง
และที่สำคัญ รัฐบาลอิรักยังเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามไอเอส
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวย้ำถึงความเป็นมาตรการเพียงชั่วคราวของคำสั่งนี้ด้วย แต่ก็ได้เปิดทางไว้ว่าอาจมีการยืดเวลาให้ยาวไปกว่า 90 วัน และอาจมีการเพิ่มรายชื่อประเทศในภายหลัง
กลุ่มพิทักษ์เสรีภาพคนกลุ่มน้อย ACLU (American Civil Liberties Union) ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ยื่นของให้ศาลยับยั้งการบังคับใช้คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ฉบับแรก กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงใช้มาตรการกีดกันทางศาสนาในครั้งนี้ และคิดว่าเหตุผลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในประเทศฟังไม่ขึ้น
เท่าที่ผ่านมารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่ได้ให้หลักฐานสนับสนุนมากนักว่า การห้ามคนจากประเทศที่กำหนดเข้าสหรัฐฯ มีผลช่วยลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอย่างไร
ทำเนียบขาวกล่าวว่า ขณะนี้ FBI หรือหน่วยงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ กำลังสืบสวนบุคคลประมาณ 300 คนทั่วสหรัฐฯ ที่เข้าประเทศในฐานะผู้ขอลี้ภัย ซึ่งกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิกล่าวว่าเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ
ในการทำสำรวจความคิดเห็นประชาชนเดือนที่แล้วก่อนการออกคำสั่งฉบับใหม่ครั้งนี้ ข้อมูลของ Pew Research Center ชี้ว่า ร้อยละ 59 ขอผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมาตรการในครั้งนั้น และมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 38
ในขณะที่โพลล์ของ CNN ในวันจันทร์ ระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 55 ไม่เห็นด้วยกับการจัดการด้านคนต่างด้าวของรัฐบาลทรัมป์ และร้อยละ 44 เห็นด้วย
(รายงานโดย William Gallo และ Victoria Macchi / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)