Your browser doesn’t support HTML5
เจ็ดเดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง นโยบายต่างประเทศของ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น แต่แทนที่จะเป็นนโยบายที่แตกต่างชัดเจนจากรัฐบาลชุดก่อนดังที่ ปธน.ทรัมป์ รับปากไว้ตอนหาเสียง บรรดานักวิเคราะห์กลับบอกว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัฟกานิสถาน ซีเรีย หรือเกาหลีเหนือ แทบไม่แตกต่างจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสมัย ปธน. บารัค โอบาม่า
ตัวอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปธน.ทรัมป์ ได้กล่าวว่าตนได้เปลี่ยนใจเรื่องการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน โดยจะยังคงให้มีทหารอเมริกันประจำการในอัฟกานิสถานต่อไปเพื่อช่วยเหลือและฝึกฝนกองกำลังของอัฟกานิสถานในการรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลโอบาม่า แม้ว่า ปธน.ทรัมป์ จะยืนยันว่าแผนดังกล่าวนั้นไม่เหมือนกับสิ่งที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ทำมาตลอด 16 ปีก็ตาม
และแม้ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ พยายามชูนโยบาย “America First” หรือ “อเมริกามาก่อน” แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเน้นย้ำว่า นโยบายที่ว่านี้มิได้หมายความว่าอเมริกาต้องล่าถอยลงจากเวทีโลก แต่อาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม
คุณเจมส์ คาราฟาโน่ นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Heritage Foundation เรียกนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ว่า “ยุทธศาสตร์การแสดงตัวเชิงรุก” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ 3 พื้นที่สำคัญ คือ ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยเน้นความสำคัญทั้งทางการทหารทางเศรษฐกิจและการทูต
แต่ขณะเดียวกัน นโยบายของทรัมป์กลับให้ความสำคัญน้อยลงกับการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก
และในขณะที่ดูเหมือนนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้จะแคบลงกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ ตัว ปธน.ทรัมป์ เองกลับทำให้เกิดความสับสนยิ่งขึ้นผ่านการทวีตข้อความด้านนโยบายต่างๆ ของตน
คุณไบรอัน คาตูริส แห่ง Center for American Progress ชี้ว่า การคาดเดาทิศทางนโยบายจากคำประกาศหรือทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์เองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ในขณะที่ดูเหมือนคนรอบตัวของประธานาธิบดี เช่น รมต.กลาโหม รมต.ต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ต่างพยายามรักษาทิศทางนโยบายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนๆ มากกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิเคราะห์ผู้นี้กังวลก็คือ แนวโน้มที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย ปธน.จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และ ปธน.โอบาม่า มาจนถึง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่การเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านการทหาร และการใช้เครื่องบินแบบไร้นักบิน หรือโดรน มาใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น
ปัจจุบัน สหรัฐฯ คือประเทศที่ใช้งบประมาณด้านกลาโหมมากที่สุดในโลก โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 618,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีงบประมาณที่แล้ว ส่วนในร่างงบประมาณใหม่ ปธน.ทรัมป์ เสนอให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอีก 10% ขณะที่งบประมาณด้านการต่างประเทศและการทูตนั้นลดลงกว่า 30%