ผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากลายมาเป็นประเด็นที่สื่อต่างประเทศหยิบยกขึ้นมารายงานอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงกันก็คือ การเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองไทยครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่ประกาศไม่รับตัวแทนกองทัพ
อิชาน ธารูร์ คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ The Washington Post ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ออกมาในวันพุธว่า ขณะที่ นักวิทยาการเลือกตั้งในสหรัฐฯ พยายามประเมินมานานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงด้านข้อมูลประชากรที่มีคนรุ่นใหม่เป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเพิ่มขึ้นจะกลายมาเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มีพลังที่สุดในการกำหนดทิศทางผลการเลือกตั้งของประเทศได้เมื่อใด สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กลับกลายมาเป็นคำตอบของปรากฏการณ์ที่ว่านี้แล้ว
แต่แม้นักวิเคราะห์หลายคนคาดมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ในไทยจะปฏิเสธพรรคการเมืองที่มีกองทัพหนุนหลังแน่ ๆ สิ่งที่ไม่มีใครกล้าฟันธงมาก่อนคือ พลังของคนรุ่นใหม่ที่ประกอบด้วยคนยุคเจนซี (Gen-Z) และมิลเลนเนียลจะกลายมาเป็นคลื่นกำลังแรงที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือดังที่คนทั่วโลกเพิ่งเห็นกันไป ซึ่งก็คือ การที่พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า สามารถคว้าชัยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรสูงที่สุด ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน และพรรครวมไทยสร้างชาติที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นได้เก้าอี้ในสภาฯ น้อยกว่ามาก
ลี่ โจว จากเว็บไซต์ข่าว Vox กล่าวว่า ชัยชนะของพรรคก้าวไกลถือเป็นปรากฏการณ์ช็อคโลกต่อผู้สังเกตการณ์ด้านการเมืองในภูมิภาคที่แสดงว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไทยนั้นต้องการการเปลี่ยนแปลงและส่งสัญญาณอันมีนัยสำคัญว่า คนส่วนใหญ่ต้องการรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริง ๆ แล้ว
โจชัว เคอร์ลานท์ซิค จาก Council on Foreign Relations ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองอิสระที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกกับ Vox ว่า “นี่คือการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน เพราะพรรคก้าวไกลคือพรรคการเมืองแรกที่ออกมาท้าทายสถาบันหลักของไทย อย่างเช่น สถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพ – เป็นพรรคแรกที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน”
ส่วน ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน-แมดิสัน กล่าวว่า “[ชัยชนะแบบ]ถล่มทลายท่วมท้นของพรรคก้าวไกลเป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งพร้อมที่จะเห็นประชาชน ไม่ใช่ทหารหรือสถาบันกษัตริย์ เป็นผู้นำประเทศ”
ขณะเดียวกัน ธารูร์ จาก The Washington Post ให้ความเห็นว่า ชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่ประกาศความพร้อมเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นจุดเปลี่ยนและการฉีกแนวออกจากสภาวะการเมืองไทยอันวุ่นวายและดูไม่มีจุดสิ้นสุดระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดง โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากความปรารถนาอันรุนแรงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ชัดเจน
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับสื่อบีบีซีว่า เสียงส่วนใหญ่ที่เปล่งออกมาในการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะหลีกหนีจากรัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ และการโหยหาความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ประชาชนนั้นเชื่อมั่นในคำเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงจากพรรคก้าวไกล โดยผลการเลือกตั้งที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า มีคนที่เห็นด้วยดังว่ามากกว่าที่คาดไว้อย่างมาก
คอลัมนิสต์ของ The Washington Post ยังอ้างถึงข้อมูลที่สื่อ Axios ของสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ความเห็นของ เคอร์ลานท์ซิค จาก Council on Foreign Relations เช่นกัน ที่ระบุว่า “ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางประเทศเดียวที่มีการก่อรัฐประหารเป็นประจำ” และว่า “คนไทยรุ่นใหม่เบื่อหน่ายกับสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่ติดหล่มอดีตอันคร่ำครึภายใต้การนำของบรรดานายพลกองทัพและสถาบันกษัตริย์”
ประเด็นของ เคอร์ลานท์ซิค อ้างถึงเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2563 ที่มีเยาวชนไทยจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุมให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสิ่งที่ ธารูร์ คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ The Washington Post เรียกว่าเป็น ‘เล่ห์กลทางการเมือง’ อันนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่และการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปีที่ทำให้หนุ่มสาวชาวไทยยิ่งไม่พอใจสภาพการเมืองของประเทศมากยิ่งขึ้น
SEE ALSO: 'องค์กรต่างชาติ-นักวิเคราะห์-สื่อนอก' ให้ความเห็นต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่
ธารูร์ ระบุด้วยว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์เป็นจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นได้ยากมากในมุมมองของการเมืองระดับโลก เมื่อกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านที่ถูกปราบปรามสามารถล้างแค้นได้สำเร็จที่คูหาเลือกตั้ง
ส่วน ศาสตราจารย์ฮาเบอร์คอร์น จากมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน-แมดิสัน กล่าวเสริมว่า หากประเทศไทยมีรัฐบาลหัวก้าวหน้าเป็นผู้นำจริง ประเด็นนี้จะมีผลกระทบอย่างมหาศาลเป็นวงกว้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและอุดมคติด้านประชาธิปไตยให้กับประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ด้วย พร้อมระบุว่า”แทนที่จะไปร่วมมือกับเผด็จการในเมียนมา รัฐบาลพรรคก้าวไกลน่าจะออกมาประณามรัฐบาลทหารและประกาศสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมามากกว่าด้วย”
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายยังกังวลว่า อาจมีความพยายามพลิกเกมการเมืองไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลอยู่
ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การที่กองทัพจะเมินไม่สนผลการเลือกตั้งเลยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก อย่างเช่น แดน สเลเตอร์ นักรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการ Weiser Center for Emerging Democracies จากมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน (University of Michigan) ที่ให้ความเห็นว่า “ในครั้งนี้ เป็นความพ่ายแพ้อันย่อยยับ และการที่กลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ปกครองประเทศอยู่สูญเสียแรงหนุนไปก็ถือเป็นความเสียหายไม่น้อย และการพลิกผลหรือปฏิเสธผลก็จะเป็นเรื่องที่ยากมาก” และว่า “พวกเขาเพียงต้องลองหันไปดูข้างบ้าน อย่าง พม่า เพื่อจะได้เห็นว่า สถานการณ์มันจะเลวร้ายได้เพียงใด เมื่อกองทัพเพิกเฉยการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและพยายามปกครองโดยปราศจากเสียงสนับสนุนที่สำคัญจากพื้นที่เมืองต่าง ๆ และจากกลุ่มคนรุ่นใหม่”
- ที่มา: The Washington Post และ Vox