สื่อต่างชาติจำนวนมากที่ทำข่าวการเลือกตั้งของประเทศไทยมาตั้งเเต่ต้นปี ต่างติดตามกิจกรรมการเมืองจนถึงโค้งสุดท้ายก่อนที่ชาวไทยจะเดินทางไปใช้สิทธิ์ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.นี้
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาสื่อขนาดใหญ่ เช่น ซีเอ็นเอ็น รอยเตอร์ เอพี บลูมเบิร์ก เดอะ การ์เดียน และเซาท์ไชนามอร์นิ่งโพสต์ รวมทั้งห้องข่าววีโอเอภาษาอังกฤษ ออกรายงานเกี่ยวกับความเข้มข้นของการเลือกตั้งครั้งนี้
สำนักข่าวต่างประเทศเหล่านี้ให้ทั้งภาพรวม และเนื้อหาประกอบกับสัมภาษณ์เชิงวิเคราะห์จากนักวิชาการ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทยที่สะท้อนการเเข่งขันเชิงอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ท่ามกลางกระเเสคนรุ่นใหม่ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเเนวคิดปฏิรูปสังคม
ซีเอ็นเอ็น ออกบทความยาวบนเว็บไซต์เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. ซึ่งพาดหัวว่า "คนรุ่นใหม่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการเรียกร้องที่สั่นสะเทือนให้มีการเปลี่ยนแปลงในราชอาณาจักรที่มีทหารเป็นใหญ่"
ซีเอ็นเอ็นชี้ถึงความสำคัญว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งเเรกตั้งเเต่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อ 3 ปีก่อน ที่นำโดยคนรุ่นใหม่เพื่อให้เรียกร้องประชาธิปไตยในไทย
อีกประการหนึ่งที่สื่อเเห่งนี้ให้ความสำคัญ คือการที่การเลือกตั้งที่จะถึงนี้เป็นการใช้สิทธิ์ทางการเมืองของประชาชนทั่วประเทศเป็นครั้งที่สองตั้งเเต่เกิดรัฐประหารปีค.ศ. 2014 โดยครั้งนั้นนำไปสู่กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เข้มเเข็งขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทรงอำนาจในช่วงหลายสิบปีแห่งความผันผวนของการเมืองไทย
ในส่วนที่กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ ซีเอ็นเอ็นกล่าวถึงพรรคก้าวไกล และสัมภาษณ์ชลธิชา เเจ้งเร็ว ผู้สมัครส.ส.ของพรรคก้าวไกล ที่เคยเป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อปีค.ศ. 2020
ในบทความชิ้นนี้ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกกับซีเอ็นเอ็น ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งใด ๆ และมีความสำคัญมากที่สุด เพราะมีการขับเคลื่อนวาระต่าง ๆ เเบบยกระดับ และเข้าถึงแก่นของประเด็นเชิงโครงสร้างในประเทศไทย
ขณะที่สื่อเซาท์ไชนามอร์นิ่งโพสต์ ติดตามการหาเสียงของชลธิชา เเจ้งเร็ว เช่นกันโดยรายงานแบบวิดีโอของสื่อฮ่องกงแห่งนี้ พูดถึงการนำประเด็นจากที่เคยเรียกร้องตามท้องถนนสู่สภาในการเลือกตั้งครั้งนี้
รายงานชิ้นนี้ของเซาท์ไชนาเมอร์นิ่งโพสต์ที่ออกเผยแพร่ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. ระบุในพาดหัวข่าวว่า “นักเคลื่อนไหวหันจากการประท้วงมาสู่หีบเลือกตั้ง”
ในวันเดียวกันสำนักข่าวเอพี ออกรายงานที่เน้นถึงความเป็นไปได้ที่ชัยชนะของฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอาจยังคงเจออุปสรรค แม้จะได้เสียงข้างมากในสภา โดยบทความชิ้นนี้พาดหัวว่า “การเลือกตั้งของไทยอาจนำมาซึ่งฉันทานุมัติสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่ชัยชนะของฝ่ายค้านอาจไม่สามารถยืนยันว่าจะได้มาซึ่งอำนาจ”
เอพีได้กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยซึ่งโพลล์ชี้ว่าน่าจะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงการทำรัฐประหาร และการยื่นเรื่องเพื่อตัดสิทธิ์การเมืองต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งบุคคลใกล้ชิด แม้ว่าพรรคของพวกเขาจะชนะเลือกตั้งมาแล้วในอดีต
บทความชิ้นนี้ระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ครองอำนาจอยู่แสดงให้เห็นหลายครั้งว่าสามารถโค่นรัฐบาลที่เป็นที่นิยมของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง
เอพีสัมภาษณ์ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งอาจจะได้เห็นการโต้กลับจากฝั่งอนุรักษ์นิยม “จากการยั่วยุความรู้สึกชาตินิยมสุดโต่งเพื่อขัดขวางพรรคการเมืองบางพรรค”
- ที่มา: วีโอเอ และสำนักข่าวต่างประเทศอื่น ๆ