ชัยชนะที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ถือเป็นเซอร์ไพรส์ใหญ่ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนนำในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคได้หาเสียงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศ ทั้งการลดบทบาททหารในเวทีการเมือง การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และที่เป็นประเด็นที่สุด คือ การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ม.112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ การพูดถึงหรือกล่าวถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งชาวไทยกว่า 10 ล้านคนที่ลงคะแนนให้พรรคที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ของไทย
ในทัศนะของชาร์ลส ซานติโก จากองค์กรสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) กล่าวกับวีโอเอว่า “ผมคิดว่าสิ่งนี้แสดงว่าประชาชนไทยตื่นขึ้นแล้วและต้องการการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานประเทศ พวกเขาต้องการรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย”
ปม ม.112 ทำแผนจับขั้วรัฐบาลติดขัด
จุดยืนของพรรคก้าวไกลในประเด็นดังกล่าว ระบุว่าต้องการ “แก้ไข – ไม่ใช่ยกเลิก” กฎหมายที่ลงโทษผู้ที่หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคหาพันธมิตรร่วมรัฐบาลได้ยาก
ในระหว่างที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เน้นย้ำว่าเขาต้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แต่การรวมเอาสมาชิกพรรคบางคนที่เจอข้อหาดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ในสายตาพรรคอื่น ๆ ที่จะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลได้
ดับฝันเพื่อไทยแลนด์สไลด์
แม้ว่าเพื่อไทยจะทำคะแนนมาในอันดับสองอย่างแข็งแกร่ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ยุติวงจรชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย ที่จัดตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ชัยชนะถล่มทลายมาตั้งแต่ปี 2001 โดยก่อนการเลือกตั้ง เขาได้ประกาศว่าจะกลับไทยในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเขาจะต้องรับโทษจำคุกในข้อหาทุจริตที่เขาระบุว่าเป็นข้อหาที่มีเหตจูงใจทางการเมือง
ตลาดหุ้นไทยสะเทือนหวั่นเสถียรภาพการเมืองสั่นคลอน
ตลาดหุ้นไทยปรับร่วง 1.3% ในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ จากประเด็นความกังวลเรื่องความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ
เมื่อดูเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่า หุ้นในกลุ่มพลังงาน อย่างบริษัท Gulf Energy เจอแรงกระแทกหนักในตลาดหุ้นเมื่อวันจันทร์ เนื่องจากความคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจดำเนินนโยบายลดราคาพลังงานรวมทั้งยุติการผูกขาด ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผู้ลงทุนจะยังคงเกาะติดการจับขั้วรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งความชัดเจนด้านนโยบายที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
จุดเปลี่ยนอาเซียน
ซานติโก เสริมว่า APHR พอใจต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกลในด้านสิทธิมนุษยชน ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมา และส่งข้อความอันแข็งกร้าวไปยังระบอบเผด็จการทั้งหลายที่มีอิทธิพลในอาเซียน โดยระบุว่า “หากพรรคก้าวไกลได้เป็นผู้นำรัฐบาล ความสัมพันธ์ของไทยกับเมียนมาและเปลี่ยนแปลง จุดยืนของอาเซียนจะเปลี่ยนไปด้วย และผมคิดว่าคุณจะได้เห็นการแก้ไขปัญหาในเมียนมาอย่างรวดเร็วแทนที่จะพบแต่ทางตันอย่างที่เคยเป็น”
ด้านแบรดลีย์ เมิร์ก นักวิจัยอาวุโสจาก Cambodian Institute for Cooperation and Peace กล่าวกับวีโอเอว่า หากพรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนจากฝั่งสว. ซึ่งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น และ “อาจเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนมุมมองของกลุ่มประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป อันได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม และประเด็นการแบ่งแยกระหว่างสมาชิกอาเซียนภาคพื้นสมุทรและภาคพื้นทวีปจะถูกนำกลับมาหารือกันอีกครั้ง”
สัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
สำหรับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ นั้น เมิร์ก ยืนยันว่านโยบายต่างประเทศกับสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนแปลงไปแม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นการจับมือกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อาจสร้างความท้าทายให้กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและด้านโทรคมนาคมของไทยที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทจีน อาทิ หัวเหว่ย
ส่วนดอน กรีนลีส์ ที่ปรึกษาอาวุโสของ AsiaLink แห่ง University of Melbourne เห็นว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างพรรคการเมืองและกองทัพยังต้องได้รับการแก้ไข และยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายต่างประเทศของไทยจะเปลี่ยนไปในด้านไหน
อีกด้านหนึ่งคือประเด็นสิทธิมนุษยชนยังเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งที่มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวด้านสหภาพแรงงานซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยกับวีโอเอว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย
ท้ายสุดในมุมมองของกาวิน กรีนวู้ด นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง A2 Global Risk สะท้อนมุมมองที่คล้ายกับซานติอาโกและเมิร์กที่ว่า เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่ากองทัพไทย ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม และสถาบัน จะยอมรับผลการเลือกตั้งได้โดยง่าย
กรีนวู้ดทิ้งท้ายว่า “หากพรรคที่คุกคามหรือถูกมองว่าคุกคามผลประโยชน์ของกองทัพหรือชนชั้นนำหรือสถาบันเบื้องสูงได้รับชัยชนะ – ผมจะประหลาดใจมาก” และว่า “มันคงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งหากการรัฐประหารของกองทัพถูกล้มล้างด้วยการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย”
- ที่มา: วีโอเอและรอยเตอร์