ชาวอเมริกันครึ่งหนึ่งในการสำรวจล่าสุด เชื่อว่าองค์กรสื่อระดับประเทศ ตั้งใจนำเสนอข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด หรือโน้มน้าวให้สาธารณชนยอมรับในมุมมองบางอย่างจำเพาะเจาะจงผ่านการรายงานข่าว และไม่ถึง 1 ใน 4 ที่มองว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ตามรายงานของเอพี
การสำรวจโดย Gallup และ Knight Foundation ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ สอบถามชาวอเมริกัน 5,593 คน ช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป ในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม – 21 กรกฎาคมปีที่แล้ว ลงลึกกว่าการสอบถามทั่วไปเรื่องความเชื่อมั่นในสื่อในประเทศที่ตกต่ำลง ด้วยการถามถึงสาเหตุที่ชาวอเมริกันจำนวนมากมีความเชื่อว่าสื่อมีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด
ในการสำรวจถามว่าชาวอเมริกันเห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวที่ว่าองค์กรสื่อระดับประเทศไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเสนอข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด ปรากฏว่า 50% ไม่เห็นด้วย และมีเพียง 25% ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และเมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวที่ว่า สื่อในประเทศ “ห่วงใยผลประโยชน์ของผู้อ่าน ผู้ชม และผู้ฟัง” ในการศึกษาพบว่า 52% ไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ มีเพียง 23% ของชาวอเมริกันในการสำรวจ เชื่อว่า สื่อมวลชนทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ซาราห์ ฟิโอโรนี ที่ปรึกษาของ Gallup กล่าวว่าการศึกษานี้ “สร้างความตกตะลึงอย่างมาก” และสะท้อนถึงระดับความไม่ไว้วางใจและความรู้สึกที่ไม่ดีของชาวอเมริกันต่อสื่อมวลชน และบรรดาสื่อต่าง ๆ ต้องทำงานหนักขึ้นกว่าการนำเสนอข่าวอย่างโปร่งใสและความถูกต้องแม่นยำ เพื่อทำให้เห็นถึงผลกระทบของการนำเสนอข่าวต่อประชาชน
จอห์น แซนด์ส จาก Knight Foundation เสริมว่า “ชาวอเมริกันไม่เห็นว่าองค์กรสื่อในประเทศใส่ใจเกี่ยวกับผลกระทบที่ตามมาของการนำเสนอข่าวสารต่อสังคมเท่าใดนัก”
มุมมองหนึ่งที่เหมือนเป็นเครื่องปลอบใจได้บ้าง คือ ชาวอเมริกันยังคงมีความเชื่อมั่นในสื่อที่นำเสนอหรือออกอากาศข่าวในระดับท้องถิ่นมากกว่าในระดับประเทศ
เมื่อกล่าวถึงรูปแบบการรับข่าวสารของชาวอเมริกันในปัจจุบัน ผู้คนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้ทันทีจากอุปกรณ์สื่อสารในมือ การนำเสนอข่าวที่รวดเร็ว และแหล่งข่าวที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าชาวอเมริกันติดตามข่าวสารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ในภาพกว้างว่าชาวอเมริกันรับรู้ข่าวสารในช่องทางใดบ้าง การศึกษานี้ชี้ว่า 58% ติดตามข่าวทางช่องทางออนไลน์ 31% ติดตามผ่านสื่อโทรทัศน์ 7% ผ่านวิทยุ และ 3% ติดตามผ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ขณะที่ในการสำรวจพบว่ากลุ่มเจน Z ที่ปัจจุบันมีอายุ 18-25 ปี ราว 88% ในการสำรวจติดตามข่าวทางออนไลน์
- ที่มา: เอพี