เสรีภาพ เป็นหัวใจในการทำงานของสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเสรีและปลอดภัย แต่ทว่าในปัจจุบัน เสรีภาพของสื่อมวลชนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังถูกลิดรอน รวมทั้งในประเทศไทย
ในการจัดอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลกในดัชนี World Press Freedom Index โดย Reporters Without Borders (RSF) หรือ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน พบว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในปี พ.ศ.2564 อยู่ที่อันดับ 137 เมื่อเทียบกับ 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่ากระเตื้องขึ้นมาจากอันดับที่ 140 ในปี พ.ศ.2563 ถึงแม้ว่าคะแนนโดยรวมจะลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2561 ก็ตาม
ในรายงาน “Press Freedom Predators” หรือ “ผู้ล่าเสรีภาพสื่อมวลชน” ของ RSF ในปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยยังติดอยู่ในโผของผู้นำที่ปราบปรามการใช้เสรีภาพของสื่อ ร่วมกับผู้บริหารประเทศและเขตปกครองทั้งหมด 37 คนทั่วโลกอีกด้วย
นักวิชาการและผู้สังเกตการณ์การทำงานของสื่อมวลชน มองว่าในภาพรวม มีทั้งเหตุและปัจจัยที่ทำให้เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยดีขึ้น และย่ำแย่ลง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ แห่งภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ที่ผ่านมาภูมิทัศน์สื่อได้ขยายกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากพัฒนาการของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย ทำให้กลุ่มคนสามารถผลิตเนื้อหาและสื่อสารสู่สาธารณะได้เองโดยไม่ต้องผ่านองค์กรสื่อที่มีอยู่แล้ว
“หลายครั้งการสื่อสารของสื่อ หรือปัจเจกเหล่านี้สามารถทำให้เกิดกระแสความสนใจในโซเชียลมีเดีย และสร้างแรงกดดันให้สื่อมวลชนกระแสหลักเห็นความสำคัญที่ต้องรายงานเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะประเด็นที่องค์กรสื่อกระแสหลักเลี่ยงหรือไม่สามารถรายงานและเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายถกเถียงได้อย่างลึกซึ้ง เช่น ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จากกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดยนักศึกษา”
ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวต่อกับวีโอเอไทยผ่านทางอีเมล์ว่า ถึงแม้ว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยี ประกอบกับความขันแข็งของประชาชน การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการใช้สื่อจะช่วยลดการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร แต่ยังมีปัจจัยหลักที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการพูดของประชาชน เช่น การควบคุมสื่อโดยภาครัฐ แนวคิดหรืออุดมการณ์ของผู้คนในสังคม และการแบ่งขั้วในสังคมที่ทำให้การอภิปรายอย่างสร้างสรรค์เป็นไปได้ยาก
ออกกฎหมาย-ใช้ "ไอโอ"-คุมอินเตอร์เน็ต: เครื่องมือเก่า-ใหม่ในการควบคุมสื่อ
นักวิชาการและผู้สังเกตการณ์มองว่ารัฐยังคงใช้การผสมผสานระหว่างเครื่องมือหรือรูปแบบเก่าและใหม่ เพื่อควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชน ดังจะเห็นได้จากการประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่อ้างว่าเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือมาตรา 116 การปิดกั้นรายงานข่าวขององค์กรสื่อที่เป็นหน่วยงานรัฐ และการใช้คำสั่งศาลเพื่อห้ามการเผยแพร่ข่าวสารหรือข้อความ ที่ศาลมองว่าเป็นการปลุกปั่นหรือปลุกระดม
ชอว์น คริสปิน (Shawn Crispin) ผู้แทนอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคณะกรรมาธิการความปลอดภัยสื่อ (Committee to Project Journalists หรือ CPJ) หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพของสื่อทั่วโลก มองว่ากฎหมายเหล่านี้กว้างและคลุมเครือ จึงทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อคุกคามนักข่าว และยังคงเป็นภัยต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนเรื่อยมา
นอกจากนี้ยังมีการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ หรือลบเนื้อหาที่ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจออกไปจากอินเตอร์เน็ต และยังใช้ลงโทษผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านสถาบันต่าง ๆ ของไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้เป็นปัญหาของไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น
ในรายงาน “Journalism is a public good: World trends in freedom of expression and media development” ซึ่งจัดทำโดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational,. Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ยังพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 มีอย่างน้อย 44 ประเทศที่นำเสนอกฎหมายใหม่ หรือปรับแก้กฎหมายเดิม 57 ฉบับ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีถ้อยคำที่คลุมเครือหรือกำกวม หรือมีบทลงโทษที่เกินกว่าเหตุ และเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งของเสรีภาพของสื่อมวลชนทั่วโลก
ดร. เจมส์ โกเมซ (James Gomez) ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคของ Asia Centre (เอเชีย เซ็นเตอร์) สถาบันวิจัยที่มีสำนักงานในกรุงเทพ และยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตีพิมพ์รายงาน "Media Freedom in Southeast Asia: Repeal Restrictive Laws, Strengthen Quality Journalism" ที่สำรวจเสรีภาพของสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความกังวลหลังจากที่รัฐบาลไทยเผยว่ากำลังศึกษาเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ (single gateway) เพื่อควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตและการส่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเขามองว่าเป็นการเดินตามรอยรัฐบาลจีนและกัมพูชา ที่ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่นี้เอาไว้
โดยก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หลายประเทศนำระบบซิงเกิลเกตเวย์มาใช้ และแก้ปัญหาอาชญากรรมและสิ่งผิดกฎหมายในประเทศในอย่างชัดเจน
จากรายงาน “Internet Censorship 2021: A Global Map of Internet Restrictions” ซึ่งสำรวจการปิดกั้นและการจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในปีที่ผ่านมา โดย Comparitech บริษัทวิจัยความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ พบว่าประเทศไทยและอีก 5 ประเทศในเอเชียตะวันเฉียงใต้ คือ ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม อยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศที่มีการปิดกั้นทางอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ซึ่งรวมถึงการจำกัดการเข้าถึงและการเซ็นเซอร์สื่อหรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองอีกด้วย
“สิ่งที่เห็นในไทยอีกอย่างหนึ่งคือปฏิบัติการข่าวสาร (IO หรือ ไอโอ) ที่มีรัฐเป็นผู้สนับสนุน เพื่อเข้าไปรบกวนภูมิทัศน์ออนไลน์ และบิดเบือนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน สื่อสังคมออนไลน์ มีการสร้างแอคเคานท์ หรือบัญชีปลอม และมีการระรานผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามทางออนไลน์อีกด้วย ซึ่งกองทัพไทยเป็นผู้ประสานและเป็นผู้ดำเนินการปฏิบัติการข่าวสารเหล่านี้” ดร.โกเมซให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยผ่านอีเมล์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแถลงว่าได้ปิดบัญชีและกลุ่มในเฟซบุ๊กที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย ซึ่งเฟซบุ๊กระบุว่า บัญชีเหล่านี้เชื่อมโยงกับกองทัพไทย และมีเป้าหมายเป็นผู้รับข่าวสารในจังหวัดทางภาคใต้
แต่ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหม ปฏิเสธว่าไม่เคยมีนโยบายที่จะสั่งการให้หน่วยใดในกองทัพ ปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะบิดเบือนให้ร้ายกับบุคคลใดทั้งสิ้น
เสรีภาพแบบมีขอบเขต
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเห็นนักวิชาการที่ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เสรีภาพสื่อไทยย่ำแย่ลงคือการแทรกแซงของรัฐ ผ่านการใช้กฎหมายอาญา ม.112 ม.116 การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และยังมีการพิจารณา single gateway และควบคุมการทำงานของสื่อว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้สื่อไทยยังสามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างอิสระเสรี ไม่มีการแทรกแซง จะเห็นว่ามีทั้งชื่นชม ให้คำแนะนำ และโจมตีรัฐบาล
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อว่า อย่างไรก็ตาม พลเมืองทุกประเทศและสื่อมวลชนล้วนมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตและแสดงความคิดเห็นแบบมีขอบเขต เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามภูมิหลัง วัฒนธรรม และความเชื่อของแต่ละสังคม สำหรับประเทศไทยกฎหมายที่ถูกพูดถึงมีไว้เป็นแนวทางสร้างความสงบสุขและคุ้มครองคนไทยทุกคน ตราบใดที่ไม่มีการละเมิดผู้อื่นกฎหมายก็ยังไม่ทำงาน
“ดังนั้นคำว่า 'เสรีภาพ' กับ 'การละเมิด' จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรพิจารณา ส่วนเรื่อง single gateway นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียให้ดีที่สุด ขอยืนยันว่าไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน” นายธนกรให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทย
สื่อไม่มีคุณภาพ รัฐจึงต้องเข้าควบคุม?
ปรากฎการณ์หนึ่งที่ ดร.โกเมซ มองว่าน่าเป็นห่วง และเกิดขึ้นทั้งในไทยและในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการที่รัฐบาลในหลายประเทศกล่าวหาสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ว่าไม่มีคุณภาพ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงที่มีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
“นั่นทำให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อที่จะควบคุมดูแลการทำงานของสื่อมวลชน หรือออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อจำกัดเสรีภาพในการทำข่าว เพื่อต่อต้านการเผยแพร่ของ ‘ข่าวปลอม’ หรือ ‘เฟคนิวส์’”
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อร่าง พรบ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยอ้างว่าสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ไม่มีคุณภาพ
ร่างพรบ ดังกล่าวสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างรัฐบาลและนักข่าวไทย โดยที่ผ่านมาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายแสดงความกังวลหลายครั้งต่อท่าทีเรื่องการควบคุมสื่อของรัฐ เช่น การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกข้อกำหนดของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ซึ่งถูกมองว่าสุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน
‘SLAPP’ ฟาดด้วยคดีเพื่อปิดปาก
นอกจากรัฐหรือทางการแล้ว บริษัทหรือภาคธุรกิจยังได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในการดำเนินการกับสื่อมวลชน ซึ่งในประเทศไทย ข้อหาหมิ่นประมาทเป็นความผิดอาญา และอาจนำไปสู่การลงโทษที่รุนแรงเช่นการถูกจำคุกได้
คริสปิน ผู้แทนอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CPJ มองว่าที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทมาข่มขู่สื่อ เพื่อไม่ให้เกิดการรายงานข่าวเชิงลบเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท
“การข่มขู่ด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายได้ทำให้เกิดช่องว่างในการรายงานข่าวที่จำเป็นเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งในบางครั้งมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนทั่วไปมากกว่านโยบายหรือการบริหารงานของรัฐบาลด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic lawsuits against public participation – SLAPP) หรือที่รู้จักกันในนาม “การฟ้องปิดปาก” ยังถูกนำมาใช้เพื่อปิดกั้นหรือขัดขวางการแสดงความเห็นหรือรายงาน หรือการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ
ซึ่ง ดร.โกเมซ แห่ง Asia Centre กล่าวว่าการฟ้องปิดปากมักจะเห็นได้ชัดจากรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และรายงานเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการดำเนินการของบริษัท เป็นต้น
จากข้อมูลของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและไอลอว์ (iLAW) พบว่า หลังจากการรัฐประหารปี 2557 การฟ้องคดีปิดปากได้เพิ่มสูงขึ้น และส่วนใหญ่แล้วภาครัฐเป็นผู้ฟ้อง จากคดีปิดปากจำนวน 212 คดี มี 59 คดีที่ผู้ฟ้องร้องคือบริษัทเอกชน ส่วนหนึ่งในสี่ของผู้ถูกฟ้องเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง จากข้อมูลถึงปี พ.ศ.2562
แนวคิด ‘อนุรักษ์นิยม’ กับการปิดกั้นเสรีภาพ?
นอกจากการควบคุมสื่อโดยภาครัฐแล้ว ผศ.ดร.พรรษาสิริ ยังมองว่าแนวคิดหลัก หรืออุดมการณ์ของผู้คนในสังคม เช่น ราชาชาตินิยม และ อนุรักษ์นิยม ยังถูกอ้างในการสร้างความชอบธรรมให้กับการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อ เช่น การใช้ hate speech เพื่อสร้างความเกลียดชัง การจับกุมและดำเนินคดีเพื่อปิดปากโดยเครือข่ายผู้ที่ต้องการธำรงแนวคิดหลักในสังคม เช่นการใช้ ม.112 กับผู้วิจารณ์รัฐและผู้เห็นต่างจากรัฐ
“เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมยังมีแนวคิดนี้ โดยเฉพาะอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ทำให้สาธารณะไม่ตั้งคำถามหรือตรวจสอบปฏิบัติการที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น โดยเฉพาะหากเป็นการดำเนินการโดยรัฐหรือกองทัพ ทั้งยังเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติและถูกต้องแล้ว” ผศ.ดร.พรรษาสิริกล่าว “ขณะเดียวกัน เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหา สื่อมวลชนก็ไม่เห็นความจำเป็นในการรายงาน ตั้งคำถาม หรือตรวจสอบประเด็นเชิงนโยบายที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือสิทธิของประชาชนอย่างจริงจัง”
“ไม่ได้บอกว่าอุดมการณ์หลักในสังคมอย่างราชาชาตินิยมหรืออนุรักษ์นิยมเป็นเรื่องที่ผิด แต่การที่ผู้มีอำนาจและคนในสังคมใช้แนวคิดเหล่านี้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการพูดหรือคุกคามผู้ที่เห็นต่างจนไม่ทำเกิดแนวคิดหรือมุมมองที่หลากหลายในสังคม...ก็จะไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ รวมถึงสื่อสารกันได้อย่างอิสระและเสรี ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งยิ่งขยายวงกว้างและฝังลึกมากขึ้น”
อนาคตของเสรีภาพสื่อมวลชน
“เสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างไร หลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะต้องมีขึ้นภายในปีหน้า” ชอว์น คริสปินกล่าว
ผู้แทนของ CPJ ยังบอกกับวีโอเอไทยด้วยว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำนายว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปและสถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนจะดีขึ้นหรือไม่ เท่าที่ผ่านมาผู้นำของไทย ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่พึงใจกับเสรีภาพของสื่อมวลชน
ด้าน ดร.โกเมซมองว่าสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไทยนั้นน่าจะคล้าย ๆ กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสื่อมวลชนจะเซ็นเซอร์ หรือปิดกั้นการนำเสนอข่าวของตัวเองมากขึ้น และการจำกัดสื่อมวลชนยังจะดำเนินต่อไป
“การควบคุมสื่อมวลชนจะยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ในการควบคุมและกำหนดเรื่องราวต่าง ๆ และในการสร้างเสถียรภาพของตน ด้วยเหตุนี้ เราจึงคาดหวังว่าหลายประเทศจะยังคงใช้กฎหมายที่จะจำกัดและใช้ในการเข้ามาควบคุมดูแลการทำงานของสื่อมวลชน ตลอดจนจำกัดการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้ในการส่งเสียงของพวกเขาให้คนอื่นได้ยิน”
นอกจากนี้ การที่รัสเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา ประกาศและบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้าน “การแทรกแซงจากต่างประเทศ” ก็อาจทำให้ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก นำเอากฎหมายลักษณะดังกล่าวมาใช้ในประเทศของตนอีกด้วย
“ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กลายมาเป็นพื้นที่ในการแข่งขัน ดังนั้น จะมีการใช้ ‘กฎหมายเพื่อควบคุมการแทรกแซงจากต่างประเทศ’ เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค ซึ่งผู้นำประเทศที่ปกครองโดยใช้ระบอบอำนาจนิยมจะใช้ภัยจากต่างชาตินี้ มาสร้างความชอบธรรมในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน”
ส่วนในประเทศไทย ดร.โกเมซ มองว่า คนรุ่นใหม่รู้สึกต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐเพื่อควบคุมสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่ออิสระและสื่อทางเลือกที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งท่าทีของคนรุ่นใหม่นี้ อาจเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยปกป้องพื้นที่เสรีภาพของสื่อมวลชนให้คงอยู่ไว้