ชีวิตลับส่วนตัวของประธานาธิบดีรัสเวีย วลาดิเมียร์ ปูติน ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีคนทราบมากนัก แม้แต่ในรัสเซียเองก็ตาม รวมทั้งข่าวลือล่าสุดเรื่องที่ว่าแฟนสาวของผู้นำรัสเซียผู้นี้ให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝด ซึ่งนำไปสู่เสียงวิจารณ์ต่อทางการรัสเซียเรื่องความพยายามปิดกั้นเสรีภาพสื่อ
เกิดกระแสข่าวลือแพร่สะพัดในกรุงมอสโกในช่วงไม่กี่วันมานี้ว่า แฟนสาวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ให้กำเนิดทารกแฝดเพศชายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
อาลีนา คาบาเอวา อดีตนักกีฬายิมนาสติกเหรียญทองโอลิมปิกวัย 36 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารสื่อแห่งหนึ่ง ถูกเรียกขานว่าเป็น "สตรีลับหมายเลขหนึ่งของรัสเซีย" โดยเมื่อ 11 ปีที่แล้ว มีข่าวว่าเธอให้กำเนิดบุตรสาวที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ทางการรัสเซียปฏิเสธข่าวดังกล่าว
ที่ผ่านมาประธานาธิบดีปูตินพยายามปกปิดชีวิตส่วนตัวของตนอย่างเต็มที่ และได้บอกปัดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคาบาเอวา พร้อมระบุว่า ตนไม่ชอบใจนักกับใครก็ตามที่ชอบยุ่งกับชีวิตส่วนตัวของคนอื่น
เมื่อปี ค.ศ. 2013 ปธน.ปูติน ประกาศแยกทางกับภรรยาที่อยู่กินกันมา 30 ปี ลุดมิลา ชเกร็บเนวา โดยทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันสองคน ซึ่งหลังจากที่เลิกรากับผู้นำรัสเซีย เธอก็แทบไม่ปรากฎตัวต่อสาธารณชนอีกเลย
สำหรับข่าวลือล่าสุดเรื่องบุตรชายฝาแฝดที่เกิดกับคาบาเอวา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.ของรัสเซียด้วยนั้น มีรายงานว่าทางการรัสเซียได้เข้ามาปิดกั้นการเสนอข่าวต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งทางสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับปูติน
เมื่อปี ค.ศ. 2016 บรรณาธิการสามคนของสำนักข่าว RBC ของรัสเซีย ถูกไล่ออกหลังจากนำเสนอข่าวเกี่ยวกับแหล่งที่มาของทรัพย์สินของปูติน ซึ่งทำให้องค์กรตรวจสอบด้านเสรีภาพสื่อเป็นกังวลว่าจะเป็นการบั่นทอนความพยายามรายงานข่าวแบบเจาะลึกในรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในขณะนี้ แต่รายงานข่าวเรื่องการคลอดบุตรของ อาลีนา คาบาเอวา ในครั้งนี้ ก็ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องทางเว็บไซต์ข่าวต่างๆ และมีการลงรายละเอียดแบบเจาะลึก เช่น คลอดวันไหน ที่ไหน อย่างไร และใครเป็นแพทย์ผู้ทำคลอด
ข่าวชีวิตลับส่วนตัวของประธานาธิบดีปูตินครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ทางการรัสเซียได้เริ่มปราบปรามสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงเสรีภาพสื่อในรัสเซียที่กำลังถูกบั่นทอน พร้อมกับที่รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นในการตัดสินว่าข่าวใดที่ควรปรากฏสู่สายตาประชาชน
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นักข่าวราวสิบคนของหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ Kommersant ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อประท้วงที่มีเพื่อนนักข่าวสองคนถูกไล่ออก หลังจากที่พวกเขาเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเครมลิน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ นสพ. Kommersant ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อที่เรียกร้องให้มีเสรีภาพสื่อ ได้นำไปสู่การแสดงจุดยืนขององค์กรตรวจสอบทางด้านสื่อต่างๆ รวมทั้ง องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ที่ประณามทางการรัสเซียว่าพยายามปราบปรามสื่อเสรีที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วในรัสเซีย
เวลานี้บรรดาผู้สื่อข่าวในรัสเซียต่างเกรงว่า มาตรการปิดกั้นสื่อต่างๆ ของรัฐบาลเครมลินจะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น หลังจากเมื่อเดือนมีนาคม ปธน.ปูติน เพิ่งลงนามในร่างกฎหมายห้ามเผยแพร่ "ข่าวปลอม" โดยมีโทษถึงขั้นจำคุกผู้ที่ฝ่าฝืน
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ร่างกฎหมายที่ว่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับควบคุมการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในรัสเซียได้เช่นกัน