นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยม Wakefield High School ในอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย กำลังเรียนรู้การจำแนกข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายบนโลกอินเตอร์เน็ต ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์วิชาสังคม Patricia Hunt ที่ใช้หลักสูตรออนไลน์ Checkology ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนรู้จักตัวอย่างของข่าวสารและข้อมูลที่บิดเบือน ชี้นำ และหลอกลวง
ในชั้นเรียนนี้ อาจารย์ Patricia หยิบยกเหตุยิงกราดที่โรงเรียนมัธยม ในเมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา เพื่อให้พวกเขาคิดวิเคราะห์และจำแนกข้อมูล ข่าวสาร และข่าวลือ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ได้
อาจารย์ Patricia บอกว่า เด็กๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารมากมาย ทั้งสิ่งที่เป็นข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลือ และข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งเธอก็หวังว่าวิชานี้จะช่วยให้เด็กๆ มีความรู้ความเข้าใจและแยกแยะได้ว่าสิ่งใดคือข่าว และระบุถึงข้อมูลที่มีอคติ ข่าวลวง รวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อ
ด้าน Alan Miller ผู้ก่อตั้งองค์กร News Literacy Project ที่มีหลักสูตรออนไลน์ Checkology นี้ บอกว่า วัยรุ่นรับรู้ข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และมักเชื่อข้อมูลที่พวกเขาได้รับจากเพื่อนฝูง
ที่น่าตกใจคือ เด็กๆส่วนใหญ่ เชื่อว่า ข้อมูลที่พวกเขาพบเห็นบนโลกออนไลน์คือข้อมูลจริง และพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อโดยไม่กลั่นกรอง
ขณะที่วัยรุ่นในระดับมัธยมปลายจะมองว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนโลกออนไลน์ จะต้องเลือกข้าง หรือมีนัยสำคัญบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พวกเขาขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ เมื่อได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมา
บรรดานักเรียนที่เข้าร่วมเรียนวิชานี้ ต่างบอกว่า พวกเขาเริ่มระมัดระวังในการติดตามข่าวสาร โดยสามารถบอกได้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม และสิ่งที่พวกเขาต้องการจะรู้ในข่าวเหล่านั้น
ตอนนี้พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในนักเรียนและนักการศึกษาหลายพันคน ในสหรัฐฯ และอีก 90 ประเทศทั่วโลก ที่ใช้คลาสเรียนออนไลน์ Checkology เพื่อตรวจสอบข่าวสารที่ผ่านสายตาพวกเขาในทุกๆวัน ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ checkology.org
หรือถ้าหากไม่มีเวลามากพอ มีบทความจากมหาวิทยาลัย Harvard และเว็บไซต์ด้านไอที digitaltrends.com ที่ระบุขั้นตอนในการคัดกรองข่าวจริง-ข่าวลวง
- อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว!
- ตรวจสอบแหล่งที่มา และความน่าเชื่อถือของข้อมูล
- ตรวจสอบ ที่อยู่ของเว็บไซต์ ปกติแล้ว จะเป็น .com, .org แต่ถ้าเป็น .com.co หรือมีโลโก้ที่ไม่คุ้นเคย ให้ระวังว่าอาจเป็นเว็บไซต์ปลอม
- สามารถตามหาบทความต้นฉบับได้หรือไม่
- ค้นหาชื่อผู้เขียน เพื่อยืนยันว่ามีตัวตนจริง และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่นำเสนอ
- แหล่งข่าวที่อยู่ในบทความมีตัวตนจริง หรือเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่นำเสนอหรือไม่?
- สามารถหาบทความที่คล้ายกันในเว็บไซต์อื่นหรือไม่
- ใช้หลักการ ค้นหาย้อนกลับ จากการหาภาพหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่นำเสนอ
- ตรวจสอบคุณภาพ ความเป็นกลางของเนื้อหา และเวลาในการนำเสนอ
- ระวังข้อมูลที่มีเนื้อหาตลกเสียดสี!
- กรองก่อนแชร์ข่าวจาก “ทวิตเตอร์”
- ถามผู้เชี่ยวชาญ
- FactCheck.org
- International Fact-Checking Network
(เรียบเรียงจากสำนักข่าวต่างประเทศ โดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ)