รายงานชิ้นใหม่ของสถาบันคลังสมองในอังกฤษ ชี้ว่า โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความไร้เสถียรภาพเมื่อประเทศต่าง ๆ เพิ่มงบประมาณด้านการทหารสืบเนื่องจากสงครามในยูเครนและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมทั้งการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้
รายงานประเมินประจำปีด้านการทหารทั่วโลก ที่จัดทำโดยสถาบัน IISS (International Institute for Strategic Studies) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชี้ว่า สงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย แอฟริกา ทวีปอาร์กติก รวมทั้งความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ล้วนมีส่วนทำให้เกิด "สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ถดถอยลง"
รายงานระบุว่า "สถานการณ์ความมั่นคงด้านการทหารในปัจจุบันอาจกำลังก่อให้เกิดทศวรรษแห่งอันตราย ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของประเทศมหาอำนาจทางการทหารบางประเทศที่ใช้แนวทาง 'พลังอำนาจคือสิ่งที่ถูกต้อง' ตลอดจนความต้องการของบรรดาประเทศประชาธิปไตยในการรวมตัวในลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคีเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น"
Your browser doesn’t support HTML5
IISS ระบุว่า งบประมาณด้านการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 9.9% ไปอยู่ที่ระดับ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนกำลังเข้าสู่ปีที่สาม นำไปสู่ความกังวลเพิ่มขึ้นว่า จีนและชาติมหาอำนาจทางการทหารอื่น ๆ อาจใช้วิธีเดียวกับรัสเซียต่อเพื่อนบ้านของตน
งบประมาณด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นนี้เห็นได้ชัดในหมู่ประเทศสมาชิกองค์การนาโต้ ซึ่งสนับสนุนยูเครนในการต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย โดยชาติสมาชิกองค์การนาโต้นอกเหนือจากสหรัฐฯ เพิ่มงบประมาณด้านการทหารไปแล้ว 32% นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มควบรวมแคว้นไครเมียเมื่อปี 2014
โดยรายงานชี้ว่า ชาติยุโรป 10 ประเทศได้บรรลุเป้าหมายขององค์การนาโต้ที่จะเพิ่มงบประมาณการทหารเป็น 2% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของประเทศตนเองเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มจากจำนวน 2 ประเทศเมื่อปี 2014
การใช้จ่ายด้านกลาโหมของยุโรปกลับมาเป้นที่สนใจอีกครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในการปราศรัยหาเสียงเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เมื่อคราวที่ตนเป็นประธานาธิบดี ตนได้บอกกับชาติสมาชิกนาโต้ชาติหนึ่งว่า ตนจะสนับสนุนให้รัสเซียโจมตีชาติสมาชิกอื่น ๆ ที่ไม่จัดสรรงบประมาณด้านการทหารให้ถึง 2% ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
คำกล่าวของทรัมป์สร้างความไม่สบายใจให้กับชาติสมาชิกนาโต้ อย่างเช่น โปแลนด์ ที่กำลังเผชิญความตึงเครียดจากสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งความล่าช้าของรัฐสภาสหรัฐฯ ในการผ่านความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ด้วย
Your browser doesn’t support HTML5
เบน แบร์รี นักวิชาการอาวุโสของ IISS กล่าวว่า ความล้มเหลวของรัฐสภาอเมริกันในการผ่านความช่วยเหลือดังกล่าว จะยิ่งส่งเสริมให้รัสเซียย่ามใจในการใช้ยุทธศาสตร์ทำลายการป้องกันตนเองของยูเครน และสังหารประชาชนจำนวนมาก
นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า คำถามสำคัญที่พันธมิตรของยูเครนต้องตอบคือ "พวกเขาต้องการให้ยูเครนชนะจริงหรือไม่?" "หากต้องการให้ยูเครนชนะจริง พวกเขาจำเป็นต้องเพิ่มความช่วยเหลือยูเครนเป็นสองเท่าจากที่ให้ไปเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนค่าเสียโอกาสที่อาจเกิดขึ้นกับชาติในยุโรปหากรัสเซียได้รับชัยชนะนั้น อาจมีมูลค่ามากกว่าสองเท่าของความช่วยเหลือที่ให้แก่ยูเครน"
ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่รายงานชิ้นนี้ค้นพบ คือ กองทัพรัสเซียได้สูญเสียรถถังไปแล้วราว 3,000 คันในสงครามกับยูเครน ซึ่งพอ ๆ กับจำนวนรถถังที่รัสเซียเคยมีในคลังอาวุธในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามเมื่อปี 2022 ในขณะที่ยูเครนใช้วิธีพึ่งพาอาวุธจากชาติตะวันตกเป็นหลัก รวมทั้งใช้โดรนทั้งทางอากาศและทางทะเลเพื่อรับมือการรุกรานของรัสเซีย
รายงานของ IISS เชื่อว่า บทเรียนจากสงครามในยูเครนเริ่มส่งอิทธิพลต่อการวางยุทธศาสตร์ทางทหารของประเทศอื่น ซึ่งหลายประเทศได้ตระหนักแล้วว่าจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตและสั่งสมอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มากขึ้น ในกรณีที่ต้องถูกดึงเข้าสู่สงครามหรือความขัดแย้งต่าง ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
- ที่มา: เอพี