Your browser doesn’t support HTML5
วันที่ 20 มกราคมนี้จะครบรอบหนึ่งปีที่ปธน.ไบเดน เข้ารับตำแหน่งผู้นำอำนาจฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ปัญหาท้าทายต่างๆ ที่รออยู่ในวันทำพิธีปฏิญาณตนเมื่อปีที่แล้วก็ยังไม่เปลี่ยนไป และนั่นก็คือ โรคระบาดใหญ่โควิด-19 กับปัญหาความแตกแยกรวมทั้งการแบ่งขั้วทางการเมืองในอเมริกา ส่วนปัญหาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ อัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงที่สุดในรอบ 39 ปี และประเด็นเหล่านี้ก็เป็นผลให้คนอเมริกันราว 50% ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของปธน.ไบเดน ตามผลการสำรวจของ Ipsos poll ครั้งล่าสุด
Mallory Newall ผู้อำนวยการฝ่ายการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะของ Ipsos อธิบายว่า เหตุผลหลักสองเรื่องที่อยู่เบื้องหลังความไม่พอ ใจของคนอเมริกันคือ ปัญหาเศรษฐกิจและโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ซึ่งยังไม่จบสิ้นเสียที
ปธน.ไบเดน หาเสียงเลือกตั้งโดยสัญญาว่าจะรับมือและแก้ปัญหาโควิด-19 รวมทั้งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว อย่างไรก็ตามถึงแม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะกระเตื้องขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงที่สุดในรอบ 39 ปีทำให้คนอเมริกันให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่ารวมทั้งเป็นผลให้คะแนนนิยมเรื่องการบริหารเศรษฐกิจของปธน.ไบเดนอยู่ในระดับไม่ถึง 50% ด้วย
นอกจากนั้นปัญหาโควิด-19 ซึ่งยังคงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ก็ทำให้ความไม่พอใจของสาธารณชนอเมริกันสะท้อนกลับไปที่ตัวผู้นำรัฐบาลเช่นกัน
นอกจากปัญหาท้าทายสองเรื่องนี้แล้ว ปธน.ไบเดนได้พยายามแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในการใช้คะแนนเสียงของพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสที่มีมากกว่าคะแนนของฝ่ายรีพับลิกันเพียงเล็กน้อยผลักดันร่างกฎหมายมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นนโยบายสำคัญของพรรคเดโมแครต เช่น การสร้างหลักประกันทางสังคม การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม รวมทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงและสิทธิของคนทำงานที่จะลางานเพื่อดูแลครอบครัวโดยยังได้รับค่าตอบแทนด้วย
นักวิเคราะห์บางคน เช่น Andrew Puzder จาก Heritage Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองแนวทางอนุรักษ์นิยมเห็นว่า ปธน.ไบเดน ควรมุ่งให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน เพราะหากปล่อยให้ปัญหาเงินเฟ้อและการขาดแคลนแรงงานรวมทั้งปัญหาของระบบ supply chain ยืดเยื้อไปมากเพียงใด โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ก็จะยิ่งตามมา ขณะที่ Jarrett Stepman นักเขียนคอลัมน์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่ชื่นชอบในวิธีรับมือกับโควิด-19 ของปธน.ไบเดน และโจมตีนโยบายที่กำหนดให้ผู้คนต้องฉีดวัคซีนว่า เป็นเรื่องที่เข้มงวดมากเกินไปแต่ไร้ประสิทธิผลด้วย
แต่ก็มีนักวิเคราะห์การเมืองบางคน เช่น Kevin Kosar จาก American Enterprise Institute ที่มองว่าการสื่อสารจากทำเนียบขาวเองที่เป็นปัญหา และว่า รัฐบาลของปธน.ไบเดน พลาดโอกาสเรื่องการหยิบยกกฎหมายที่ผ่านสภาได้สำเร็จขึ้นมาพูด แต่กลับเน้นเรื่องที่ทำเนียบขาวและผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาไม่สามารถผลักดันให้เป็นผลได้ โดยเฉพาะเรื่องจุดยืนที่แตกต่างของวุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตเอง ซึ่งคนอเมริกันไม่ต้องการฟัง ไม่สนใจ และไม่อยากได้ยินข้อแก้ตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้
Mallory Newall จากหน่วยงานสำรวจความคิดเห็น Ipsos ชี้ว่า ขณะที่ปธน.ไบเดนเริ่มการทำงานในปีที่ 2 และปัญหาโควิด-19 ก็ย่างเข้าปีที่ 3 เช่นกันนั้น ความรู้สึกของผู้คนในขณะนี้ไม่เป็นไปในทางบวกเท่าไหร่นัก และจากความรู้สึกผิดหวังและไม่พอใจก็ทำให้เกิดคำถามและความไม่แน่ใจตามมา ซึ่งความรู้สึกของคนอเมริกันในลักษณะดังกล่าวย่อมจะส่งผลถึงเรื่องอื่นๆ เช่นความพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการผลักดันนโยบายของพรรคเดโมแครตเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศตามไปด้วย