ช่วงปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เผชิญกับบททดสอบสำคัญที่สุดในรอบหลายปี ทั้งปัจจัยด้านโควิด-19 และเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศ รวมถึงบทบาทของไทยเรื่องเมียนมาหลังเกิดรัฐประหารโค่นอำนาจนางออง ซาน ซูจี
อุปทูตสหรัฐฯ ยืนยัน ยังเดินหน้าคุยรัฐบาลประเด็นสิทธิทางการเมืองของคนไทย
ในปี 2564 ยังคงมีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการใช้สิทธิทางการเมืองของชาวไทย ตั้งแต่การคุมตัวแกนนำการประท้วงระหว่างรอพิจารณาคดีโดยศาลปฏิเสธประกันตัว ตามด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่วินิจฉัยว่า แกนนำกลุ่มดังกล่าวใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และมีมติเอกฉันท์ให้เลิกกระทำ
สำหรับกรณีหลังนี้ รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น บลูมเบิร์ก เอพี และเอเอฟพี สะท้อนทัศนะว่าคำตัดสินอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาอื่นๆ ต่อผู้ประท้วง และอาจทำให้ผู้ประท้วงได้รับโทษหนักขึ้น และอาจยังมีผลต่อการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ดูสงวนท่าทีและความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการสงวนท่าทีต่อเนื่องจากปี 2563 ที่การเมืองไทยร้อนระอุ ส่วนปฏิกิริยาที่ชัดเจนที่สุดจากทางสหรัฐฯ ก็เป็นเพียงมติร่วมแบบ “มติธรรมดา” หรือ simple resolution จากกลุ่มวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ รวมถึงจากพ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เพื่อเน้นพันธสัญญาของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการเมืองในไทย แต่ในระดับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีการแสดงท่าทีใดเป็นพิเศษต่อเหตุการณ์ในไทย
ในประเด็นนี้ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวกับวีโอเอไทยผ่านทางอีเมล ยืนยันว่า สหรัฐฯ ยังคงหารืออย่างตรงไปตรงมากับรัฐบาลไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ตลอดจนการดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกดังกล่าว
“ประเด็นนี้ไม่ได้บั่นทอนไมตรีและความร่วมมือของเราในหลากหลายประเด็น และแท้จริงแล้ว การสนทนาหารืออย่างตรงไปตรงมากลับเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเรายิ่งขึ้น” นายฮีธกล่าว พร้อมยืนยันว่า สหรัฐฯ ยังคงทุ่มเทสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็น “หัวใจของนโยบายต่างประเทศ” ของสหรัฐฯ
ทางด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับวีโอเอไทยทางอีเมลว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับประเด็นการเสริมสร้างประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว
พอล แชมเบอรส์ นักวิชาการประจำศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร มองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันเห็นว่า ไทยเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมองว่ารัฐบาลของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนไม่ได้เพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทยเหมือนในยุคอดีต ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์
“เห็นได้ชัดว่า ปธน. ไบเดน พยายามเดินทางสายกลางระหว่างผลประโยชน์ภูมิรัฐศาสตร์และคุณค่าเชิงบรรทัดฐาน โดยคำนึงถึงการแข่งขันกับจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อาจารย์แชมเบอรส์กล่าว
อุปทูตสหรัฐฯ เผย ถึงไม่เชิญไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดประชาธิปไตย แต่จะสนับสนุนประชาธิปไตยในไทยต่อไป
อุปทูตฮีธยังได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัด "ประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" (Summit for Democracy) ผ่านระบบออนไลน์ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่มีประเทศเข้าร่วม 111 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น
“วัตถุประสงค์โดยรวมของการประชุมสุดยอดนี้คือเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเท่านั้น”
“สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างประชาธิปไตยของเราในสหรัฐฯ และทำงานร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อพิสูจน์ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยสามารถตอบโจทย์ในประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนทั้งหลาย เรามุ่งมั่นทำงานกับทุกฝ่ายที่มีค่านิยมเหล่านั้นเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการวางระเบียบการดำเนินงานของเราในศตวรรษที่ 21” อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ ที่จัดขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตก กับจีนและรัสเซีย เพิ่มมากยิ่งขึ้น
เขาระบุด้วยว่า แม้ไทยจะไม่ได้รับเชิญเข้าการประชุมดังกล่าว แต่สหรัฐฯ จะยังคงทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยต่อไป เพื่อขับเคลื่อนค่านิยมที่นำประเทศทั้งสองให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงประชาธิปไตย การยอมรับซึ่งกันและกัน เสรีภาพสื่อมวลชน และการเคารพสิทธิมนุษยชน
สำหรับกรณีที่ไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยชี้แจงเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า หากสหรัฐฯส่งคำเชิญมายังไทย ก็อาจเป็น “ดาบสองคม”
นักวิเคราะห์ระบุผลประโยชน์ของสหรัฐฯมีประเด็นใหม่ๆมากขึ้น
ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมการเมืองสหรัฐฯ ระบุว่า การที่ไทยไม่ถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ย่อมทำให้ไทยรู้สึกเสียหน้า
“ไทยพูดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตนเองได้ในเวทีสหประชาชาติ แต่การที่ไทยไม่ถูกสหรัฐฯ เชิญเข้าร่วมการประชุมนี้ ทำให้ไทยสร้างภาพลักษณ์ของตนในด้านประชาธิปไตยได้ยากขึ้น”
อาจารย์ธเนศยังมองว่า การประชุมครั้งนี้ นอกจากจะมีการตั้งเป้าเรื่องประชาธิปไตย การปราบปรามการทุจริต เสรีภาพ ธรรมาภิบาลแล้ว ยังครอบคลุมประเด็นอื่นๆ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญและต้องการให้มีการรวมกลุ่มเพื่อผลักดันประเด็นเหล่านี้ในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก
“รัฐบาลแบบไทย เมียนมา กัมพูชา ไม่มีทางตอบสนองต่อนโยบายเทคโนโลยีเหล่านี้ได้” เขากล่าว
เบนจามิน ซาวัคคิ ผู้เชี่ยวชาญโครงการอาวุโสด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมูลนิธิ The Asia Foundation เห็นด้วยเช่นกันว่า การที่ไทยไม่ได้ถูกรับเชิญเข้าการประชุมดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อท่าทีของสหรัฐฯ ต่อไทย
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า ท่าทีของอเมริกาต่อไทยเรื่อง Summit for Democracy มีผลเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าแผนการเยือนไทยของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้แผนถูกเลื่อนเนื่องจากมีผู้สื่อข่าวที่ร่วมเดินทางมาติดเชื้อโคโรนาไวรัสก็ตาม
“ไทยยังคงเป็นพันธมิตรในทางสนธิสัญญาต่อสหรัฐฯ และพันธมิตรหลักนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากทิศทางนโยบายในขณะนี้ (ความสัมพันธ์) อาจเปลี่ยนแปลงได้แบบข้ามคืนหากมีวิกฤตระดับภูมิภาค” ซาวัคคิกล่าว
วัคซีนจากสหรัฐฯ และผลเชิงการทูต
นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา ย่อมหนีไม่พ้นการบริจาควัคซีนโควิดให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทย ซึ่งอุปทูตฮีธ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับมือกับความท้าทายร่วมกันอย่างการระบาดของโรคโควิด-19
“เราภูมิใจที่ได้บริจาควัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจำนวน 2.5 ล้านโดสให้แก่ไทย รวมทั้งสนับสนุนไทยในการเร่งผลิตวัคซีนด้วยตนเอง และก้าวสู่การเป็นแหล่งผลิตสำหรับประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีความต้องการวัคซีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าว
อาจารย์ธเนศมองว่า การทูตวัคซีนของสหรัฐฯ ที่นำวัคซีน mRNA เข้ามายังไทยเป็นชุดแรก สามารถสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มประชาชนชาวไทยได้ แต่รัฐบาลไทยที่เร่งจัดการวัคซีนสูตรต่างๆ ที่ได้รับจากจีนนั้น อาจไม่พอใจเท่าใด รวมถึงประเด็นวัคซีนในไทยที่กลายเป็นเรื่องการเมือง ที่ผู้ต้องการวัคซีนสัญชาติอเมริกันถูกมองว่าอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
ทางด้านซาวัคคิ นักวิชาการจาก The Asia Foundation มองว่า การทูตวัคซีนของสหรัฐฯ ครั้งนี้ “ได้ใจ” คนไทย ไม่ใช่เพราะจำนวนของวัคซีนที่บริจาคหรือการประชาสัมพันธ์ แต่เป็นเพราะประสิทธิผลของวัคซีนสัญชาติอเมริกันต่างหาก ทำให้แม้จีนและสหรัฐฯ ต่างสร้างการทูตทางสาธารณสุขกับไทยมานาน แต่เรื่องประเด็นประสิทธิผลของวัคซีนนี้เองที่ทำให้สหรัฐฯ ได้ “แต้มต่อ”
สหรัฐฯ หวังไทยเพิ่มบทบาทต่อสถานการณ์ในเมียนมา
ทางฝั่งเมียนมานั้น สหรัฐฯ แสดงท่าทีประณามรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึงมีการใช้มาตรการลงโทษและงดทำธุรกรรมกับบริษัทและรัฐวิสาหกิจในเครือของรัฐบาลทหารมาโดยตลอด จากรายงานการปราบปราม คุมขัง และสังหารผู้ประท้วงพลเรือน นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และสื่อมวลชน นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ต่อสถานการณ์ในเมียนมานั้น ไทยมีฐานะเป็นทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผู้อพยพหนีความไม่สงบจากเมียนมาตามชายแดน เป็นทั้งชาติพันธมิตรสหรัฐฯ และยังเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรที่ยึดหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ของชาติสมาชิก
อุปทูตฮีธมองว่า ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียน “มีบทบาทสำคัญยิ่ง” ในการผลักดันให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติความรุนแรง รับมือวิกฤตด้านมนุษยธรรม และทำให้เมียนมากลับมาเป็นประชาธิปไตย
“เรายังคงเรียกร้องให้ไทยและชาติสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ กำหนดให้รัฐบาลทหาร (เมียนมา) รับผิดชอบดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเดินทางเยือน (เมียนมา) พร้อมพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรมทุกคน” นายฮีธกล่าว
อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เน้นถึงประเด็นความร่วมมือสหรัฐฯ-ไทย ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเมียนมา สนับสนุนให้ไทยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และยึดถือหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไปสู่อันตราย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบทบาททางการทูตของไทยและความคาดหวังในเรื่องเมียนมา อาจารย์แชมเบอรส์เห็นว่าไทยจะมีบทบาทในประเด็นรัฐบาลทหารของเมียนมากกว่านี้ “อย่างเสียไม่ได้”
ไทยในฐานะเจ้าภาพ “เอเปค” หวังได้ต้อนรับไบเดนปีหน้า – นักวิชาการมอง ไทยจะไม่มีบทเด่นหากรัฐบาลประยุทธ์ยังอยู่
สำหรับในปีหน้านั้นที่น่าจับตามองต่อไปคือการเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ของไทยในปีหน้า โดยอุปทูตฮีธคาดหวังว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้าจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับไทย
"สหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนของเราในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาเป็นเวลานาน เพื่อสร้างภูมิภาคที่เชื่อมโยงซึ่งยกระดับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของเราโดยรวม" อุปทูตฮีทกล่าว "เรามุ่งมั่นที่จะทำงานกับไทยอย่างใกล้ชิดตลอดปี 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ"
ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า เมื่อปี 2563 การค้ารวมไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่า เกือบห้าหมื่นล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกมูลค่าเกือบสี่หม่ืนล้านดอลลาร์ นำเข้าประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์ และสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย
ทางด้านนายธานีแสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ไทยหวังว่าจะได้ต้อนรับการเยือนของ ปธน. ไบเดน ในช่วงการประชุมเอเปคที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยเขาระบุว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็น “โอกาสในการเสริมสร้างพลวัตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ธเนศระบุว่า ถ้าปีหน้ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ยังอยู่ต่อ การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยจะ “จืดชืด” เนื่องจากประเทศมหาอำนาจไม่คาดหวังว่ารัฐบาลไทยชุดนี้จะตอบสนองทั้งพัฒนาการประชาธิปไตยและเรื่องนโยบายต่างประเทศได้ “แต่หากมีการเปลี่ยนนายกฯ ไทย ก็อาจมีการเจรจาใหม่ๆ” เขาระบุ
กต. ยืนยัน ไทย-สหรัฐฯ มีนโยบายสอดคล้องกัน - นักวิชาการมอง ความสัมพันธ์สองประเทศจะ “นิ่งเฉย” ต่อไป หากรัฐบาลไทยยังเป็นชุดเดิม
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน มีนโยบายที่สอดคล้องและมีท่าทีร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานและเทคโนโลยีสะอาด การรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในมิติด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น
นายธานียังยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมสานต่อการทำงานร่วมกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งด้านการทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และในมิติอื่น ๆ
อาจารย์ธเนศ มองว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ-ไทยนั้น “นิ่งเฉย” มานับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงแรกของจุดเริ่มต้นวิกฤตทางการเมืองของไทย และทำให้ไทยไม่สามารถตอบสนองนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เต็มที่นับแต่นั้นมา
“สภาพแวดล้อมประชาธิปไตยในประเทศมีผลต่อการกำหนดนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ” เขาระบุ “การพลาดโอกาสตรงนี้ของนโยบายต่างประเทศไทย ได้รับอิทธิพลของสภาพการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลไทยเอง ทำให้ไทยแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศได้ไม่เต็มที่”
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์เสรีภาพโลกประจำปี 2564 (Freedom in the World 2021) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ได้ลดสถานะของไทยจากประเทศที่ “มีเสรีภาพบางส่วน” เป็น “ไม่มีเสรีภาพ” โดยได้คะแนนลดลง 30 คะแนนจาก 100 คะแนน เนื่องจากเหตุยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่สามในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 รวมถึงการที่รัฐบาลปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยเยาวชนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย
ทางด้านซาวัคคิมองว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และไทยมีการตอบสนองต่อกันและกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นไปในเชิงรุกมากนัก ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศยังเป็นไปในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ที่มีความร่วมมืออย่างเห็นผลและได้รับความสำคัญมากกว่า และเขาสรุปว่า ไทยไม่ได้คิดถ่วงดุลความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่อย่างใด
นักวิชาการจาก The Asia Foundation ผู้นี้ เห็นด้วยเช่นกันว่า สหรัฐฯ จะไม่คาดหวังอะไรจากไทยมากนักในปีหน้า เนื่องจากไทยไม่ได้คิดรับมือกับอิทธิพลในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นของจีน แม้แต่ในเรื่องของเขื่อนบนแม่น้ำแม่โขงที่ไทยกังวลต่อกิจกรรรมของจีนบนแม่น้ำดังกล่าวมากว่า 20 ปี โดยเขามองว่า สหรัฐฯ จะหันไปร่วมมือกับหุ้นส่วนใหม่ในจีนและเวียดนามมากกว่าในปีหน้า
“สหรัฐฯ อาจยังคงเสนออาวุธทางการทหารราคาถูกมายังไทย ในขณะเดียวกันก็ยังคงพยายามมีบทบาทเชิงลึกขึ้นในอาเซียน แต่จีนก็อาจดำเนินการเช่นเดียวกัน” อาจารย์แชมเบอรส์กล่าว พร้อมเสริมว่า ไทยจะไม่เลือกข้างอย่างชัดเจนต่อไปในกรณีทะเลจีนใต้