ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หนึ่งปีที่ผ่านไปของไบเดนกับความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายคนเข้าเมืองซึ่งแทบไม่คืบหน้า


Biden Immigration Dilemma
Biden Immigration Dilemma
Biden Immigration Policy
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:16 0:00

ในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว โจ ไบเดนได้โจมตีการดำเนินนโยบายคนเข้าเมืองอย่างเข้มงวดของโดนัลด์ ทรัมป์และสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างครอบคลุมทุกด้านเพื่อย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

อย่างไรก็ตามในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้ทำงานในด้านนี้กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลไบเดนคือการเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้กับการปฏิบัติบางเรื่องเท่านั้น แต่แทบไม่มีความคืบหน้าอย่างสำคัญในด้านอื่นเลย

ดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากนโยบายคนเข้าเมืองเดิมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้นคือการที่ประธานาธิบดีไบเดนสั่งให้ยุติการสร้างกำแพงตามแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน แต่เนื้อหาสาระด้านอื่นในนโยบายคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังดำเนินต่อไปด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

ตัวอย่างเช่นรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนยังคงบังคับใช้กฎหมายที่เรียกว่า Title 42 ซึ่งกำหนดให้สหรัฐฯ ต้องส่งตัวผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศโดยเร็วด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุข ถึงแม้จะมีข้อยกเว้นบางประการสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กและสำหรับเยาวชนที่ไม่มีผู้ปกครองเดินทางมาด้วย เป็นต้น

และอีกเรื่องหนึ่งคือนโยบายที่มีชื่อว่า Migrant Protection Protocols หรือ MPP ซึ่งนำมาใช้โดยประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงในสหรัฐฯ ไว้ในดินแดนของเม็กซิโกขณะที่รอการกำหนดวันไต่สวนคำร้องในศาลคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ โดยนโยบาย MPP นี้ถึงแม้ประธานาธิบดีไบเดนจะประกาศให้ระงับใช้หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่วันก็ตาม แต่ต่อมาอัยการสูงสุดของรัฐเท็กซัสได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลและศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนสิงหาคมให้รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนกลับไปใช้นโยบายตามเดิมขณะที่กำลังรอขั้นตอนของการอุทธรณ์อยู่

ในส่วนของนโยบายการรับผู้ลี้ภัยนั้น ในช่วงสี่ปีของประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ลดจำนวนการรับผู้ลี้ภัยลงจาก 85,000 คนต่อปีเหลือเพียงปีละ 15,000 คน ซึ่งในช่วงแรกรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนก็ดูจะพอใจรักษาระดับการรับผู้ลี้ภัยประจำปีอยู่ที่ตัวเลขดังกล่าวซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

แต่หลังจากที่มีเสียงตำหนิเรียกร้องจากสมาชิกพรรคเดโมแครตในสภา ประธานาธิบดีไบเดนก็ได้เพิ่มจำนวนการรับผู้ลี้ภัยขึ้นเป็น 62,500 คนในปีนี้และเป็น 125,000 คนสำหรับปีงบประมาณ 2022 คือปีปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทำเนียบขาวจะยอมรับว่าเป้าหมายการรับผู้ลี้ภัยให้ได้ 125,000 คนต่อปีนี้อาจจะยากที่จะบรรลุได้

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งดูจะมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนคือการจัดลำดับความสำคัญสำหรับการบังคับใช้กฎหมายกับคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ เพราะในช่วงของประธานาธิบดีทรัมป์ หน่วยงานปราบปรามด้านศุลกากรและคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ หรือ ICE ถือว่าคนเข้าเมืองรายใดที่อยู่ในประเทศโดยไม่มีเอกสารอย่างถูกต้องจะต้องถูกจับกุมและถูกส่งตัวออกนอกประเทศ แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนได้จัดลำดับความสำคัญของเรื่องนี้ใหม่โดยได้ระบุกลุ่มซึ่งเป็นเป้าหมายอย่างชัดเจนมากขึ้นเป็นผลให้ส่วนใหญ่ของผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่อยู่ในสหรัฐฯ มีโอกาสจะถูกจับกุมและถูกส่งตัวกลับประเทศน้อยลง

ความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นได้จากการเปลี่ยนถ้อยคำที่ใช้เรียกคนเข้าเมืองซึ่งเดิมเคยใช้คำว่า “alien” หรือคนต่างด้าว เป็น “noncitizen” หรือบุคคลที่ไม่ใช่พลเมือง หรือ “undocumented noncitizen” หรือบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองผู้ไม่มีเอกสารอย่างถูกต้อง เป็นต้น

ถึงกระนั้นก็ตามเรื่องนี้ก็คงไม่ได้ส่งผลทำให้เวลาสำหรับการรอสัมภาษณ์เพื่อขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ นั้นสั้นลงแต่อย่างใดเพราะเมื่อเดือนพฤศจิกายนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่ามีผู้รอคิวสัมภาษณ์เพื่อรับวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ในประเภทต่างๆรวมกันถึงกว่า 460,000 คนทั่วโลก

และความพยายามอย่างเด่นชัดที่สุดในเรื่องนโยบายคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีไบเดนซึ่งยังไม่ประสบผลสำเร็จจนถึงขณะนี้คือร่างกฏหมายที่มีชื่อว่า U.S. Citizenship Act of 2021 ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนประกาศในวันแรกของการเข้าทำงาน และเนื้อหาสำคัญเรื่องหนึ่งในร่างกฎหมายนี้คือการเปิดโอกาสให้คนเข้าเมืองที่อยู่ในสหรัฐฯ โดยไม่มีเอกสารอย่างถูกต้องตามกฏหมายซึ่งมีจำนวนราว 11 ล้านคนในขณะนี้มีโอกาสได้รับสัญชาติอเมริกันได้ภายในแปดปีหากมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์

แต่จนถึงขณะนี้ร่างกฏหมายดังกล่าวยังไม่ถูกขับเคลื่อนให้ผ่านการลงมติในสภาใดสภาหนึ่งของสหรัฐฯ และเนื่องจากร่างกฏหมายเพื่อปฏิรูประบบคนเข้าเมืองตามข้อเสนอของประธานาธิบดีไบเดนนี้จะต้องใช้คะแนนเสียงสามในห้าของวุฒิสภาหรือ 60 เสียง แต่พรรคเดโมแครตมีคะแนนอยู่เพียง 50 เสียงและสมาชิกพรรครีพับลิกันทุกคนก็มีความเป็นหนึ่งเดียวกันที่คัดค้านร่างกฏหมายดังกล่าว ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงให้ความเห็นว่าโอกาสที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ นั้นจึงเท่ากับศูนย์

ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG