ศาลฮ่องกงตัดสิน นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ‘มีความผิดในคดีโค่นล้มการปกครอง’

  • VOA

จนท.ตำรวจยืนเฝ้าสถานการณ์หน้าศาลเกาลูนตะวันตก ของฮ่องกง เมื่อ 30 พ.ค. 2567 ก่อนผู้พิพากษาจะตัดสินว่า นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย มีความผิดพยายามโค่นล้มรัฐบาล

ศาลสูงสุดของฮ่องกงประกาศคำพิพากษาในคดีสำคัญที่ทางการยื่นฟ้องต่อนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยกลุ่มหนึ่ง โดยตัดสินว่า จำเลยเกือบทั้งหมดมีความผิดในข้อหาสมคบคิดเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐบาล

คำพิพากษาที่มีออกมาในวันพฤหัสบดีนี้ถือเป็นคำตัดสินในคดีที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่จีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเมื่อปี 2020 ท่ามกลางการจับตาดูอย่างใกล้ชิดของนักการทูตชาติต่าง ๆ สื่อต่างประเทศ และองค์กรประชาสังคมทั้งหลาย

ก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสินออกมา จำเลย 16 คนจากทั้งหมด 47 คนยืนยันว่าไม่ได้ทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ขณะที่ อีก 31 คน ยอมรับผิดเพื่อหวังจะได้รับโทษสถานเบา โดยกลุ่มหลังนี้มีนักเคลื่อนไหวระดับแนวหน้าเช่น โจชัว หว่อง นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และเบนนี ไท นักวิชาการด้านกฎหมาย รวมทั้ง คลอเดีย โม อดีตนักการเมืองฮ่องกงหัวประชาธิปไตย

ท้ายที่สุด ศาลสั่งยกฟ้องจำเลย 2 คน

การพิพากษาคดีนี้เกิดขึ้น หลังตำรวจฮ่องทำการจับกุมนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยชั้นนำ 47 คนเมื่อกว่า 3 ปีก่อน ขณะที่ ทั้งหมดกำลังร่วมทำการคัดเลือกเบื้องต้นเพื่อหาผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงกันอยู่

SEE ALSO: ตำรวจฮ่องกงบุกจับแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยกว่า 50 คน

จำเลยทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหา “สมรู้ร่วมคิดเพื่อทำการโค่นล้ม” ภายใต้อำนาจของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งประกาศใช้ในพื้นที่ฮ่องกงในปี 2020 โดยทางการฮ่องกงกล่าวหานักเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่า พยายามล้มรัฐบาล แต่จำเลยแย้งว่า พวกตนเพียงพยายามจะเข้าไปเป็นสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ในสภาเพื่อใช้อำนาจอันชอบธรรมยับยั้งการตั้งงบรัฐบาลเพื่อหวังบีบให้ผู้บริหารสูงสุดของเกาะแห่งนี้ลาออกจากตำแหน่ง

ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธการขอประกันตัวและถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่การพิจารณาคดีเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021

ทั้งนี้ การที่ฮ่องกงดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวทั้ง 47 คนที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยทำให้ภาวะการเคลื่อนไหวด้านการเมืองของเกาะนี้ชะงักลงทันที ทั้งยังทำให้ความหวังที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยของฮ่องกงดับลงด้วย

อย่างไรก็ดี นักเคลื่อนไหวบางส่วนบอกว่า คำตัดสินของศาลในครั้งนี้ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดเลย

แพทริก พูน นักวิจัยเยี่ยมเยือน จากมหาวิทยาลัยโตเกียว บอกกับ วีโอเอ ทางโทรศัพท์ว่า “เราคาดไว้แล้วว่า จำเลยส่วนใหญ่จะถูกตัดสินว่ามีความผิด ขณะที่ ราว 2 คนน่าจะถูกยกฟ้องในข้อหาต่าง ๆ เพราะรัฐบาลต้องการทำให้คนรู้สึกว่า ทางการได้พิจารณาหลักฐานทั้งหมดดีแล้ว และตัดสินคดีในแบบที่เป็นธรรมจริง ๆ”

แต่นักวิเคราะห์บางรายก็ชี้ว่า คำตัดสินของศาลฮ่องกงในวันพฤหัสบดีแสดงให้เห็นว่า การที่ภาคประชาสังคมจะดำเนินกิจกรรมใด ๆ คล้าย ๆ กับการเลือกตั้งผู้แทนเบื้องต้นที่นักเคลื่อนไหวกลุ่มที่ถูกจับไปดำเนินคดีนั้นจะยากยิ่งขึ้นและมีความเสี่ยงอย่างที่สุด

เอริก ไล นักวิจัยจาก Georgetown Center for Asi Law ในสหรัฐฯ บอกกับ วีโอเอ ทางโทรศัพท์ว่า คำตัดสินครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า “การใช้หนทางอันสันติเพื่อกดดันรัฐบาลฮ่องกงอาจกลายมาเป็นการก่ออาชญากรรมได้แล้ว”

ในส่วนของบรรยากาศก่อนศาลจะมีคำตัดสินออกมานั้น ทางการฮ่องกงได้จัดกำลังตำรวจจำนวนมากมาดูแลพื้นที่รอบ ๆ ศาล เนื่องจากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งรวมถึงสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน ๆ ของจำเลยทั้งหมดมาเข้าแถวรอฟังคำพิพากษาตั้งแต่เช้าตรู่วันพฤหัสบดี ขณะที่ นักเคลื่อนไหวแนวหน้าบางรายที่ยังไม่ถูกทางการดำเนินคดีก็มาทำการชุมนุมประท้วงย่อยใกล้ ๆ ศาลด้วย

สมาชิกกลุ่ม League of Social Democrats ถือป้ายผ้ายืนประท้วงหน้าศาลฮ่องก เมื่อ 30 พ.ค. ก่อนที่ผู้พิพากษาจะตัดสินคดีโค่นล้มรัฐบาล

นอกจากนั้น ตัวแทนทางการทูตจากหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป รวมทั้ง สื่อต่างประเทศหลายแห่งก็มารอฟังคำตัดสินด้วย

สำหรับนักเคลื่อนไหว 45 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในครั้งนี้ ทั้งหมดต้องรอการตัดสินลงโทษขั้นสุดท้ายระหว่างถูกควบคุมตัวต่อไป โดยบทลงโทษสูงสุดนั้นอาจรุนแรงถึงการจำคุกตลอดชีวิต

แพทริก พูน นักวิจัยเยี่ยมเยือน จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้ทัศนะกับวีโอเอด้วยว่า อำนาจของกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่รัฐบาลฮ่องกงประกาศใช้งานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอาจไม่ช่วยให้นักเคลื่อนไหวหลายสิบคนที่ยอมสารภาพผิดก่อนศาลตัดสิน ซึ่งรวมถึง โจชัว หว่อง และ เบนนี ไท จะมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเร็วกว่าคนอื่นเลย

พูน กล่าวว่า “ผมไม่คาดว่า จำเลย 45 คนจะได้ถูกลงโทษเป็นระยะสั้น ๆ และบางรายที่เป็นจำเลยหลักนั้น ผมคิดว่า อาจถูกลงโทษเป็นเวลายาวนาน เพื่อให้รัฐบาลได้สร้างบรรยากาศของผลกระทบที่ภาคประชาสังคมฮ่องกงไม่แน่ใจว่าจะพูดหรือทำอะไรได้บ้าง (chilling effect) ต่อไป”

  • ที่มา: วีโอเอ