กลับไม่ได้ไปไม่ถึง!? เรื่องเล่าจากชาวยูเครนที่จำใจลี้ภัยไปรัสเซีย

FILE - Residents of the Ukrainian city of Mariupol stay at a temporary accommodation center for evacuees in a local school in Taganrog in the Rostov region, Russia, March 23, 2022.

ในช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมาหลังจากรัสเซียเริ่มบุกรุกยูเครน มีชาวยูเครนจำนวนมากที่ต้องลี้ภัยไปประเทศอื่นโดยใช้รัสเซียเป็นทางผ่าน ซึ่งพวกเขาได้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางที่ยากลำบาก และประสบการณ์จากการเผชิญการปฏิบัติที่แตกต่างหลากหลายในรัสเซีย

วแลด โชโรคอฟ อดีตผู้สื่อข่าวและผู้จัดการร้านอาหาร วัย 25 ปี อพยพออกจากเมืองมาริอูโพล (Mariupol) พร้อมครอบครัวและเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 20 มีนาคม เพื่อหนีการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของรัสเซีย โดยเขาเดินทางผ่านไปทางรัสเซียก่อนที่จะต่อไปยังฟินแลนด์ที่ซึ่งเขาไปรับจ้างทำงานก่อสร้างอยู่ในขณะนี้

โชโรคอฟเล่าให้วีโอเอฟังว่า สมาชิกในกลุ่มของเขาทั้ง 9 คน หลบหนีออกจากอาคารสูงแห่งหนึ่งไม่ไกลจากโรงงานเหล็กอซอฟสตาลที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง โดยมีทหารรัสเซียเป็นผู้จัดเตรียมเส้นทางการอพยพซึ่งต้องผ่านจุดตรวจที่อยู่ห่างออกไป 7 กม.

กลุ่มของโชโรคอฟถูกนำตัวขึ้นรถโดยสารคันหนึ่งซึ่งพาพวกเขาไปที่เมืองโนโวอซอฟสก์ (Novoazovsk) ในเขตปกครองดอแนตสก์ ติดกับชายแดนรัสเซีย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านโอเลกซานไดรฟสก์ (Oleksandrivske) เพื่อรอผ่านกระบวนการ "กลั่นกรอง" ผู้ลี้ภัย

Many evacuees from Mariupol and other occupied Ukrainian cities made their way through Russia to third countries.

หลังผ่านกระบวนการกลั่นกรองแล้ว โชโรคอฟและครอบครัวถูกส่งตัวไปยังเมืองทาแกนร็อก (Taganrog) ในรัสเซีย จากนั้นเดินทางด้วยรถไฟและรถแท็กซี่ต่อไปยังชายแดนฟินแลนด์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาหลายวัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวยูเครนทุกคนจะมีการเดินทางที่ค่อนข้างราบรื่นเหมือนโชโรคอฟ

การกลั่นกรองอย่างละเอียด

เดนิส โคชูเบย์ เจ้าหน้าที่สภาเมืองมาริอูโพล กล่าวกับวีโอเอว่า มีรายงานเกี่ยวกับชาวยูเครนจำนวนมากที่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองบริเวณพรมแดนยูเครน-รัสเซีย และบางคนต้องผ่าน "การกลั่นกรองอย่างละเอียด" ซึ่งรวมถึงการตอบคำถามมากมาย และอาจถูกทุบตีทำร้าย โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานให้กับกองทัพยูเครนมาก่อน

โคชูเบย์บอกว่า คนที่มีรอยสักหรือมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับยูเครน เช่น สวมเสื้อยืดสีเหลืองและน้ำเงินซึ่งเป็นสีธงชาติยูเครน หรือบังเอิญหลุดคำพูดเป็นภาษายูเครน คน ๆ นั้นอาจต้องถูกตรวจสอบกลั่นกรองอย่างละเอียดได้

SEE ALSO: ประสบการณ์คนไทยช่วยจัดการที่พักชั่วคราวให้ผู้อพยพจากสงครามยูเครน  

ชาวเมืองมาริอูโพลอีกผู้หนึ่ง คือ คาเทรีนา โวฟค์ ซึ่งหลบหนีออกจากเมืองพร้อมสามีและลูกน้อยวัย 3 ขวบ เล่าประสบการณ์ว่า เธอถูกทหารรัสเซียนำตัวไปส่งที่เมืองนิโคลสกีในฝั่งยูเครนซึ่งกองทัพรัสเซียยึดครองเอาไว้แล้ว โดยเธอและผู้อพยพคนอื่น ๆ ถูกนำตัวไปรวมกันที่โรงยิมของโรงเรียนแห่งหนึ่งก่อนที่จะถูกนำขึ้นรถบัสไปเมืองทาแกนร็อกในรัสเซียเช่นกัน

โวฟค์เดินทางต่อไปยังเขตปกครองวลาดิเมียร์ในรัสเซีย ไม่ไกลจากกรุงมอสโก และได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากบรรดาอาสาสมัครชาวรัสเซียที่นั่น

อย่างไรก็ตาม การเดินทางออกจากรัสเซียเพื่อไปยังประเทศที่สามนั้นไม่ง่ายเหมือนตอนเข้าไปรัสเซีย เธอเล่าว่า เจ้าหน้าที่ชายแดนรัสเซียถามคำถามและตรวจสอบทุกคนอย่างเข้มงวด ผู้ชายถูกจับแยกออกไปสอบสวนต่างหากเป็นเวลาหลายชั่วโมง

File photo shows refugees waitingg in a crowd for transportation after fleeing from the Ukraine and arriving at the border crossing in Medyka, Poland, Monday, March 7, 2022.

ปัญหาด้านเอกสารและเงินค่าเดินทาง

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประเมินว่า มีชาวยูเครนมากกว่า 1.5 ล้านคนที่ลี้ภัยเข้าไปในรัสเซียนับตั้งแต่เกิดสงครามเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่มิได้มีการระบุจำนวนผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจและไม่สมัครใจว่ามากน้อยแค่ไหน

ทางด้าน ไอรีนา เวเรสชุค รองนายกรัฐมนตรียูเครน กล่าวว่า มีชาวยูเครนราว 1.2 ล้านคน รวมถึงเด็ก 240,000 คน ที่ถูกบังคับให้เดินทางไปรัสเซียนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น

โอเลกซานดรา แมตเวียชุค ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวยูเครน กล่าวว่า มีชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาในการเดินทางออกจากรัสเซียเนื่องจากไม่มีเอกสารและเงินค่าเดินทาง หรืออาจถูกย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในรัสเซียโดยไม่เต็มใจ

ชาวยูเครนจำนวนมากต่างรีบหนีออกจากเมืองที่ถูกโจมตีโดยแทบไม่มีเวลานำเอกสารใด ๆ ติดตัว ซึ่งการหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ตัวตนของพวกเขานั้นถือเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง

Your browser doesn’t support HTML5

เปิดใจ คนไทยใน 'เยอรมนี-โปแลนด์' ช่วยผู้ลี้ภัยจากสงครามยูเครน

หนึ่งในอาสาสมัครชาวรัสเซียที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กล่าวกับวีโอเอว่า สำเนาเอกสารหรือเอกสารอิเลกทรอนิกส์นั้นอาจนำมาใช้ไม่ได้ในกรณีของผู้อพยพที่ต้องการเดินทางออกจากรัสเซีย โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กซึ่งแทบไม่มีเอกสารใด ๆ มาแสดง ทำให้พวกเขาต้องจำใจติดค้างอยู่ในรัสเซีย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศยูเครนแนะนำให้ชาวยูเครนที่ไม่มีเอกสารติดตัว ติดต่อไปยังสถานทูตในประเทศที่ต้องการเดินทางไปพักอาศัย หรือติดต่อที่ฝ่ายบริการกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือ

ไม่ใช่ทุกคนต้องการเดินทางออกจากรัสเซีย

แมตเวียชุค ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า มีผู้อพยพชาวยูเครนบางส่วนที่ไม่ต้องการเดินทางออกไปจากรัสเซีย ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง บางคนหางานทำได้ในรัสเซีย และหลายคนไม่ต้องการเผชิญกับประสบการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอีกต่อไป

ทนายความชาวยูเครนผู้นี้บอกว่า "พวกเขาต้องอยู่ในหลุมหลบภัยนานหลายสัปดาห์ตอนที่ถูกทหารรัสเซียถล่มโจมตี ไม่มีอาหาร ไม่น้ำ ไม่มีไฟฟ้า บางส่วนอาจสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จนไม่มีแรงกายหรือแรงใจที่จะเดินทางหลบหนีไปไหนอีกแล้ว แม้จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศของผู้ที่ทำลายถิ่นฐานของพวกเขาก็ตาม"

  • ข้อมูลบางส่วนจาก TSN และ Tass