ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเครน กังวล ภาวะ “เหนื่อยล้าจากสงคราม” อาจทำให้ชาติตะวันตกลดแรงหนุน


FILE PHOTO: Local resident Viacheslav walks on debris of a residential building damaged by a military strike, as Russia's attack on Ukraine continues, in Sievierodonetsk, Luhansk region, Ukraine April 16, 2022.
FILE PHOTO: Local resident Viacheslav walks on debris of a residential building damaged by a military strike, as Russia's attack on Ukraine continues, in Sievierodonetsk, Luhansk region, Ukraine April 16, 2022.

ขณะที่ สงครามในยูเครนเดินหน้าเข้าสู่เดือนที่ 4 อยู่นี้ รัฐบาลกรุงเคียฟเริ่มมีความกังวลว่า พันธมิตรจากชาติตะวันตกทั้งหลายอาจเริ่มประสบภาวะ “เหนื่อยล้าจากสงคราม” ซึ่งจะกลายมาเป็นโอกาสให้รัสเซียประสบความสำเร็จในการยึดครองพื้นที่บางส่วนของประเทศตนได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า “ความเหนื่อยล้าเริ่มปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ และทุกคนต่างต้องการผลลัพธ์(ที่เป็นประโยชน์)สำหรับตน และเราก็ต้องการผลลัพธ์(อีกแบบ) สำหรับตัวเองเช่นกัน” พร้อมแสดงความกังวลว่า รัสเซียอาจฉวยโอกาสในช่วงที่ชาติตะวันตกเริ่มอ่อนล้ามากดดันให้ยูเครนยอมออมชอมให้กับมอสโกในเร็ว ๆ นี้

Smoke and dirt rise from shelling in the city of Sievierodonetsk during fight between Ukrainian and Russian troops in the eastern Ukrainian region of Donbas on June 7, 2022. (Photo by Aris Messinis / AFP)
Smoke and dirt rise from shelling in the city of Sievierodonetsk during fight between Ukrainian and Russian troops in the eastern Ukrainian region of Donbas on June 7, 2022. (Photo by Aris Messinis / AFP)

โวโลดิเมียร์ เฟเซนโก นักวิเคราะห์ด้านการเมืองจากศูนย์ Penta Center บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีว่า ในเวลานี้ สิ่งที่ชัดเจนก็คือว่า รัสเซียมุ่งมั่นที่จะทำให้ชาติตะวันตกอ่อนล้าลง และพยายามดำเนินยุทธศาสตร์ภายใต้สมมติฐานว่า ประเทศจากตะวันตกทั้งหลายจะเหนื่อยล้าและค่อย ๆ เปลี่ยนท่าทีมายอมตนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การต่อสู้ในพื้นที่เซเวโรดอแนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน ยังคงมีความรุนแรงต่อเนื่องในวันศุกร์ โดยเจ้าหน้าที่ยูเครนได้เรียกร้องขอให้ชาติตะวันตกนำส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งรวมถึงระบบยิงจรวดและปืนใหญ่ มาให้ตนมากขึ้นแล้ว

วาดิม สกิบิตสกี รองหัวหน้าหน่วยข่าวกรองกองทัพยูเครน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Guardian ของอังกฤษ โดยระบุว่า “นี่คือช่วงของการรบด้วยปืนใหญ่” และว่า “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่(ชาติตะวันตก)ส่งมอบให้เรา”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐฯ จะมอบระบบยิงจรวดล้ำสมัยและกระสุนต่าง ๆ ให้กับยูเครน เพื่อช่วยในการโจมตีเป้าหมายกองทัพรัสเซียได้แม่นยำมากขึ้น

ทั้งนี้ ปธน.เซเลนสกี เรียกการสู้รบในเซเวโรดอแนตสก์ ว่าเป็น “หนึ่งในสงครามที่ยากที่สุด” และเน้นย้ำความสำคัญของพื้นที่เมืองดังกล่วในแคว้นดอนบาสทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งรัสเซียหวังจะยึดครองหลังดำเนินการรุกรานมานาน 3 เดือนครึ่ง โดยชี้ว่า “ชะตากรรมของดอนบาสของเราจะถูกตัดสินที่นั่น”

ทั้งเมืองเซเวโรดอแนตสก์ และเมืองลีซีแชนสก์ ซึ่งเป็นเมืองแฝดที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำดอแนตส์ คือพื้นที่ส่วนสุดท้ายในเขตปกครองลูฮันสก์ที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของยูเครน หลังรัสเซียประกาศไปเมื่อต้นสัปดาห์ว่า กองทัพของตนสามารถยึดครองพื้นที่ 97% ของเขตปกครองนี้ไว้ได้แล้ว

โอเลกซานเดอร์ สตรีอุค นายกเทศมนตรีเมืองเซเวโรดอแนตสก์ เปิดเผยว่า ในเวลานี้ มีพลเรือนราว 10,000 คนที่ยังติดค้างอยู่ในเมือง โดยจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 10% ของประชากรเมืองก่อนที่จะเกิดสงครามครั้งนี้

และนอกจากประเด็นการสู้รบในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของประเทศแล้ว ผู้นำยูเครนยังกล่าวหารัสเซียด้วยว่า กำลังทำการ “แบล็กเมล์โลกทั้งโลกด้วยทุพภิกขภัย” โดยใช้วิธีปิดกันท่าเรือของยูเครนและการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ

ปธน.เซเลนสกี ระบุในคลิปวิดีโอที่ส่งไปฉายในงานเลี้ยงของนิตยสารไทม์ เมื่อวันพฤหัสบดี ว่า การกระทำของรัสเซียนั้นทำให้โลก “เข้าใกล้ภาวะอันตรายของวิกฤตอาหารอันรุนแรง” แล้ว และว่า “ผู้คนนับล้านอาจต้องอยู่ในภาวะอดอยาก หากการปิดกั้นของรัสเซียในทะเลดำยังดำเนินต่อไป”

อย่างไรก็ดี รัสเซียกล่าวโทษมาตรการลงโทษของนานาชาติต่อตน และทุ่นระเบิดของยูเครนในทะเลดำ ว่าเป็น ต้นเหตุของการลดลงของการส่งออก

  • ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์

XS
SM
MD
LG