วีโอเอไทยพูดคุยกับสุภณา โสภณพนิช ผู้ประสานงานด้านการบริหารจัดการศูนย์พักพิง ในองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration หรือ IOM) ถึงประสบการณ์การทำงานสนับสนุนรัฐบาลยูเครนเพื่อจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับผู้อพยพในช่วงสงคราม รวมถึงคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจทำงานในองค์กรระหว่างประเทศอย่างเช่น IOM
เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สุภณาได้เดินทางไปยังยูเครนเพื่อพูดคุย วางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนรัฐบาลยูเครน ในฐานะที่ทีมงานของเธอจาก IOM มีหน้าที่เข้าไปช่วยสนับสนุนและประเมินการจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราว
เมืองที่สุภณาไปทำงานเป็นหลักคือเมืองลวีฟ ซึ่งเป็นเมืองทางตะวันตกของยูเครน ติดชายแดนโปแลนด์ และเป็นเมืองที่รวมทั้งผู้ที่ลี้ภัยจากสงครามในประเทศ และเป็นศูนย์กลางของการประสานงานขององค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ด้วย
“หลัก ๆ ก็เป็นการดูว่าเราจะสนับสนุนทางไหนได้มากที่สุด ศูนย์พักพิงต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา ส่วนมากถ้าเป็นที่พักชั่วคราวอาจไม่ค่อยมีปัญหามากเท่าใด สิ่งที่น่าสนใจที่เราทำการประเมินมา ส่วนมากมีคำขอเข้ามาว่า ต้องการเครื่องซักผ้า…
“แล้วไหนจะมีการคำนึงถึงเรื่องความสะอาด เรื่องโควิด เพราะฉะนั้นการซักล้าง การเปลี่ยนผ้าปูเตียง เปลี่ยนผ้าขนหนู ก็จะค่อนข้างสำคัญ แล้วส่วนมากมีอาสาสมัครที่เข้ามาทำอาหารให้ตลอดเวลา บางครั้งก็จะมีคำขอเช่น เตาอบ ตู้เย็น เข้ามา” สุภณาเล่าถึงการทำงานสนับสนุนผู้อพยพที่เผชิญภาวะสงครามในขณะที่ยังคงมีการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในยูเครนมีแนวโน้มลดลง โดยมียอดผู้ติดเชื้อต่อวันน้อยกว่า 1% ของยอดผู้ติดเชื้อช่วงสูงที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เกิดเหตุโรคระบาดเมื่อปีค.ศ. 2020 ยูเครนมีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 108,000 คน
สุภณากล่าวต่อว่า เนื่องจากมีองค์กรระหว่างประเทศและองค์การนอกภาครัฐ หรือ เอ็นจีโอ จำนวนมากในเมืองลวิฟ สิ่งสำคัญจึงเป็นการประสานงานและใช้มาตรฐานเดียวกันในการทำงานเดียวกัน “บางทีรัฐบาลไม่ค่อยพร้อมที่จะรับมือกับการไหลทะลักเข้ามาขององค์กรต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ยูเครนก็ปิดรับไม่ให้เอ็นจีโอลงทะเบียนใหม่ช่วงหนึ่ง… เพราะฉะนั้นก็จะมีองค์กรที่ยังเข้าไปทำงานไม่ได้ เพราะยังไม่มีการทำบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาล”
แม้จะมีความท้าทายในการประสานงานระหว่างองค์กรต่าง ๆ อาสาสมัคร และรัฐบาล แต่สุภณาระบุว่า ประสิทธิภาพของรัฐบาลยูเครนถือว่าค่อนข้างสูง ประกอบกับที่ตลาดในประเทศรอบข้าง เช่น โปแลนด์ โรมาเนีย ฮังการี และสโลวะเกีย ยังเป็นตลาดที่มีการทำงานและยังสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ยูเครนยังสามารถสั่งปัจจัยจากตลาดในประเทศเหล่านี้และช่วยให้การทำงานของทีมงานของเธอง่ายขึ้น
อีกหนึ่งความท้าทายที่สุภณาเผชิญ คือการทำงานภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ในช่วงสงครามในยูเครน “ด้วยความที่ยังมีการสู้รบกันอยู่ในยูเครน ทำให้พื้นที่การทำงานของเราค่อนข้างลื่นไหล เริ่มแรกเลยเราอาจเข้าไปทำงานในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ทางตะวันตกของประเทศ แต่นี่ผ่านมาสองเดือนแล้ว เราก็ขยายการทำงานเข้าไปในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
“ในขณะเดียวกัน เนื่องจากในประเทศมีกฎอัยการศึกอยู่ การจ้างพนักงานในประเทศค่อนข้างลำบาก ทำให้เราไม่สามารถจ้างผู้ชายในประเทศได้ บางทีมันก็จำกัดความสามารถในการทำงานขององค์กรได้”
สุภณายังยกตัวอย่างถึงบริบทในช่วงสงครามที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเมื่อ และเธอต้องรับมือให้ทัน เช่น การปรับโบสถ์ โรงเรียน ให้เป็นที่พักอาศัยของผู้คนในช่วงแรกของสงคราม แต่หลังจากที่สงครามดำเนินมาระยะหนึ่ง ก็มีความต้องการให้กลับมาเปิดโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เข้าชั้นเรียน เป็นต้น
เจ้าหน้าที่ชาวไทยใน IOM กล่าวต่อว่า เส้นทางที่ผู้อพยพสามารถเดินทางเข้า-ออกยูเครนถือว่าเดินทางได้ง่าย จากการสังเกตการณ์ของเธอในพื้นที่ทำงานที่ยูเครน และช่วยให้ทางทีมงานของหาที่พักพิงให้ผู้ที่อพยพไปนอกยูเครนได้ง่ายขึ้น
“คนที่เราเห็นส่วนมาก จะเป็นผู้หญิง เด็ก บางทีก็เป็นคนสูงอายุ บางทีเราก็เริ่มเห็นคนกลับเข้าไปในยูเครน ช่วงแรกๆ จะเป็นคิวออกนอกประเทศ ตอนนี้คิวเข้าประเทศยาวขึ้น จริงๆ ยาวกว่าด้วย คนส่วนหนึ่งจะกลับเข้ามาดูบ้าน ดูของเพิ่ม แล้วก็กลับออกไปใหม่ ในขณะที่บางส่วนเห็นว่ามันปลอดภัยพอที่จะกลับมาได้ โดยเฉพาะคนที่มาจากกรุงเคียฟ”
อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานก็เผชิญกับความท้าทายในการดูแลกลุ่มผู้ที่มาจากประเทศที่สามในยูเครน เช่น นักศึกษา คนทำงาน ที่อาจไม่ได้รับการเอื้ออำนวยจากกฎระเบียบของสหภาพยุโรป หรือ อียู โดยคนกลุ่มนี้อาจถูกกัดกันไม่ให้ข้ามชายแดน หรือข้ามไปแล้วไม่มีสิทธิ์อยู่ในประเทศอียู และเป็นกลุ่มที่ทาง IOM ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ
อีกความท้าทายที่เธอสังเกตเห็นจากกระแสของผู้อพยพคือ เมืองที่อยู่ชายแดนตะวันตกของยูเครนมักไม่มีที่จอดรถ ซึ่งผู้อพยพจำนวนมากขับรถออกมาจากทางตะวันออกเพื่อไปยังประเทศยุโรปอื่น ๆ “มันเลยกลายเป็นว่า นอกจากจะมีที่พักพิง ต้องมีที่ให้สัตว์เลี้ยง แล้วก็ต้องมีที่จอดรถ ซึ่งในการทำงาน (อื่น ๆ) เราจะไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้”
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก IOM ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ระบุว่า ยอดผู้พลัดถิ่นในยูเครนมีมากกว่า 8 ล้านคนแล้ว ซึ่งสูงกว่ายอดผู้พลัดถิ่นระลอกแรกเมื่อเดือนมีนาคม 24% รายงานอีกฉบับของ IOM ที่สำรวจความเห็นชาวยูเครน 2,000 คน ที่จัดทำระหว่างวันที่ 17 เม.ย. – 3 พ.ค. ยังพบว่า 9% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า บ้านของพวกเขาได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย และ 1 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาต้องการอุปกรณ์เพื่อซ่อมบ้านที่เสียหายของตน
มาทำงานที่ IOM ได้อย่างไร? มีคำแนะนำถึงผู้สนใจงานด้านนี้อย่างไรบ้าง?
สุภณาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของ IOM ประจำอยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ มาได้ห้าปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เธอมีประสบการณ์ร่วมงานกับ IOM มาก่อนหน้านี้ในโครงการระยะสั้นที่เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ตั้งแต่เหตุน้ำท่วมใหญ่ของไทย พายุไซโคลนนาร์กิสในเมียนมา เหตุแผ่นดินไหวในเนเปาลหรือเฮติ ไปจนถึงเหตุสงครามในอิรัก
เดิมทีนั้น สุภณาเป็นสถาปนิกที่ทำงานด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบที่อยู่อาศัย และยอมรับว่า “ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าองค์กรระหว่างประเทศคืออะไร” แต่หลังจากที่เธอได้ไปเป็นอาสาสมัครที่เขาหลัก จ.พังงาหลังเกิดเหตุสึนามิในไทยเมื่อปีค.ศ. 2003 เธอก็ได้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับงานด้านนี้มากขึ้น
“หลังจากนั้นก็รู้สึกอยากทำงานอะไรแบบนี้เหมือนกัน มีความสนใจ บวกกับคุณแม่ก็ทำงานด้านการสังคมค่อนข้างเยอะ ก็เลยสนใจว่าจริง ๆ เราก็มีความสามารถที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ อยากลองดู”
“แล้วหลังจากไปเป็นอาสาสมัคร ถ้าอยากทำงานประเภทนี้แต่เป็นวิชาชีพ จะมีความเป็นไปได้อย่างบ้าง พอเราจับพลัดจับผลู จากงานหนึ่ง ก็ต่อไปอีกงานหนึ่ง… จริง ๆ นิสัยคือเป็นคนที่ชอบทำงานที่ท้าทาย เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ บางทีเราก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งตื่นเช้าขึ้นมา จะมีหน้าที่อะไร จะต้องเดินทางแค่ไหน” สุภณากล่าว พร้อมเสริมว่า ตอนนี้เธอเดินทางประมาณ 45% ของเวลาทำงานทั้งหมด ซึ่งมีทั้งการเดินทางตอบสนองเหตุฉุกเฉิน ไปจนถึงการเดินทางเพื่อจัดอบรมเจ้าหน้าที่จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร
สุภณากล่าวว่า หลังจากที่เธอได้มาทำงานในองค์กร IOM แล้ว สิ่งหนึ่งที่เธอสัมผัสได้ถึงความแตกต่างในการทำงานคือ การให้คำปรึกษา คำแนะนำ หรือการวางแผนในการทำงาน เหมือนจะมีน้ำหนักและส่งผลกระทบกับตัวงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งที่เธอเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเธอกล่าวว่า เป็น “แรงงานฟรี”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไทยใน IOM ผู้นี้ก็แนะนำว่า การเริ่มทำงานอาสาสมัครเพื่อให้ความรู้กับตนเอง เป็นการเก็บประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจงานในสายงานองค์กรระหว่างประเทศ ที่เธอยอมรับว่า “การเข้ามาทำงานในภาคส่วนนี้ค่อนข้างยาก ค่อนข้างแข่งขันกัน”
“ (ดิฉัน) รู้สึกว่า การให้ความช่วยเหลือคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา มันไม่ได้สำคัญน้อยกว่าคนที่อยู่ในสงคราม ถ้าเรามีประสิทธิภาพ มีความสามารถที่จะสละเวลา สละความรู้ หรือแค่แรงงานมือ ให้คำแนะนำ ให้เวลากับคนอื่นที่อาจด้อยโอกาสกว่า…โอกาสที่จะอาสาหรือร่วมทำงานแบบนี้ ง่ายที่สุดคือเริ่มจากรอบตัวเอง”
- รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai