เรือพิฆาตของสหรัฐฯ แล่นผ่านเกาะทะเลจีนใต้ที่จีนครอบครองอยู่

Arleigh Burke-class guided-missile destroyer USS Benfold (DDG 65), forward-deployed to the U.S. 7th Fleet area of operations, conducts underway operations in the South China Sea, in this handout picture released on July 13, 2022.

เรือพิฆาตของกองทัพเรืออเมริกันแล่นผ่านใกล้เกาะในทะเลจีนใต้ที่จีนครอบครองอยู่ ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่า เป็นการลาดตระเวนที่มีเป้าหมายแสดงเสรีภาพในการเดินเรือผ่านเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทะเลดังกล่าว

กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า เรือพิฆาตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส เบนโฟลด์ แล่นผ่านหมู่เกาะพาราเซลล์ในวันพุธ ภายใต้ภารกิจ "สนับสนุนสิทธิเสรีภาพ และใช้ทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย"

ภารกิจดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในแถบอินโด-แปซิฟิก เพื่อคานอำนาจในด้านการทหารและการขยายกองเรือของจีนในภูมิภาคนี้

In this undated file photo released by Xinhua News Agency, a Chinese H-6K bomber patrols the islands and reefs in the South China Sea.

ทางด้านเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมจีน ระบุว่า กองบัญชาการทางใต้ของกองทัพจีนได้ส่งเรือติดตามเรือยูเอสเอส เบนโฟลด์ และมีคำสั่งให้ออกไปจากน่านน้ำของจีนทันที

ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน กล่าวเมื่อวันพุธว่า จีนยืนยันปฏิเสธคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮกเมื่อปีค.ศ. 2016 ที่ระบุว่า จีนไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตของทะเลจีนใต้

โฆษกหวัง กล่าวว่า "จีนไม่ยอมรับและขอปฏิเสธคำตัดสินนี้ และจีนจะไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นผลมาจากคำตัดสินนี้เช่นกัน"

SEE ALSO: สหรัฐฯ กร้าว! พร้อมปกป้องฟิลิปปินส์หากถูกจีนโจมตี

เมื่อวันอังคาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวไปถึงรัฐบาลจีนว่า ขอให้จีนเคารพคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศดังกล่าว พร้อมเตือนว่า สหรัฐฯ มีพันธกิจในการปกป้องชาติพันธมิตร คือฟิลิปปินส์ หากเรือรบ เครื่องบิน หรือหน่วยทหารของฟิลิปปินส์ ถูกโจมตีในทะเลจีนใต้

แถลงการณ์ของรัฐมนตรีบลิงเคนระบุว่า "สหรัฐฯ ขอให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และหยุดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการยั่วยุ" และว่า "สหรัฐฯ ขอย้ำว่าหากเกิดการโจมตีต่อกองทัพ เรือหรือเครื่องบินของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการทหารเพื่อปกป้องชาติพันธมิตร ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ ที่จัดทำขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1951"

สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมะนิลา เผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวของรัฐมนตรีบลิงเคนในวันอังคาร ในโอกาสครบรอบ 6 ปีคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว

  • ที่มา: วีโอเอ