จีนได้เปิดตัวเรืออัจฉริยะสุดล้ำที่มีความสามารถพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งการเดินเรือแบบไร้คนขับ แม้ทางการจีนจะระบุว่า จุดประสงค์หลักของเรือลำนี้คือการค้นคว้าวิจัย แต่นักวิเคราะห์ที่จับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกลับมีความเห็นที่ต่างออกไป
ทางการจีนแสดงแสนยานุภาพผ่านเรือวิจัยบรรทุกโดรนอัจฉริยะลำแรกภายใต้ชื่อ จูไห่หยุน ซึ่งมีเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติและหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ได้ โดยเรือ จูไห่หยุน ได้เริ่มทดสอบเดินเรือในทะเล และคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของจีนในอนาคต อ้างอิงจากเว็บไซต์ของทางการเมืองจูไห่ของจีน
เรือ จูไห่หยุน นั้นเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางการจีนระบุว่า จุดประสงค์ของเรือลำนี้ คือ “การเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นคว้าวิจัยทางทะเลและพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล” โดยหน่วยงาน Southern Marine Science & Engineering Guangdong Laboratory จะควบคุมเรือขนาด 88.5 เมตรจากฝั่งที่ตั้งอยู่ในเมืองจูไห่
เรือลำดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในยานสำรวจน้ำลึกและอุปกรณ์ล้ำสมัยของจีนที่ทางการปักกิ่งหวังว่าจะช่วยให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน (People's Liberation Army-Navy) ได้เปรียบชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะ ในกรณีข้อพิพาทอาณาเขตทางทะเลในภูมิภาค
นักวิเคราะห์ต่างจับตาเทคโนโลยีทางทะเลของจีนล่าสุดนี้ ว่าสะท้อนถึงความพยายามล่าสุดของจีนในการแสดงความแข็งแกร่งในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเมื่อปี 2017 นักวิทยาศาสตร์จีนได้พัฒนายานสำรวจน้ำลึกและโครงข่ายการสำรวจใต้ทะเลเพื่อการค้นคว้าวิจัยทางทะเล และระบบเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับพิกัดของเรือดำน้ำของศัตรูได้ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีมิติด้านการทหารมากกว่าการสำรวจวิจัยทางทะเล
เจฟฟรีย์ คิงส์ตัน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Temple University ในประเทศญี่ปุ่น ชี้ว่า หลาย ๆ ประเทศรู้สึกกังวลกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลของจีน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข้อถกเถียงที่พูดถึงกันมานาน และในตอนนี้จีนได้เริ่มการใช้โดรนจำนวนมากขึ้นมาอีก
พี.ที. คาโทช อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกิจการข้อมูลของกองทัพบกอินเดีย อธิบายว่า สถาบันสมุทรศาสตร์ของจีนได้ใช้โดรนใต้น้ำเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์และน่านน้ำของประเทศอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ทางทหาร และจีนอาจ “ใช้โดรนในการตรวจจับและติดตามการเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำของศัตรูเพื่อการโจมตี” ได้อีกด้วย
อเล็กซานเดอร์ ฮวง อาจารย์ด้านยุทธศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Tamkang University ในไต้หวัน ระบุว่า ขีดความสามารถของเทคโนโลยีทางน่านน้ำของจีนเหนือกว่าทุกชาติในแถบอินโด-แปซิฟิก ยกเว้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ปักกิ่งอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบ 90% ของทะเลจีนใต้ แม้ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไต้หวัน จะออกมาโต้กลับว่าพื้นที่ข้างต้นไม่ใช่ของจีนก็ตาม เพราะรัฐบาลต่าง ๆ เห็นความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลในบริเวณดังกล่าว ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เส้นทางการเดินเรือบรรทุกสินค้าและการประมง
ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนเปิดการเดินเรือบริเวณน่านน้ำดังกล่าวให้ทุกชาติใช้เพื่อประโยชน์โดยรวม (international use) อย่างไรก็ตาม สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ กับวีโอเอถึงกรณีข้างต้น
ในอดีต เจ้าหน้าที่จากทางการจีนระบุว่า เทคโนโลยีทางทะเลนั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อการค้นคว้าวิจัย หรือการดึงเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้ ซึ่งแอรอน ราบีนา นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน ISEAS ของสิงคโปร์ อธิบายว่า จีนต้องการให้ทุกคนเห็นถึงบทบาทการเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีในอินโดแปซิฟิก
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการวิจัยที่ก้าวล้ำเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้จีนอยู่เหนือประเทศอื่น ๆ ในด้านการทหาร เพราะอาจารย์ด้านยุทธศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Tamkang University ได้เตือนว่า จีนได้ประสบความสำเร็จในการสร้างนวตกรรมและความเปรียบทางการทหารจากเทคโนโลยีด้านการวิจัยที่ล้ำสมัย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะสามารถมีปฏิบัติการเต็มรูปแบบทางทหารที่ได้เปรียบกว่าชาติอื่นได้
ทั้งนี้ หลาย ๆ ชาติได้พยายามคานอำนาจและอิทธิพลของจีน ประธานาธิบดีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้ประกาศที่การประชุมด้านความมั่นคงประจำปีที่สิงคโปร์ Shangri-la Dialogue ว่า ญี่ปุ่นจะเสริมความแข็งแกร่งของกองทัพในอีกห้าปี และจะผลักดันการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน สหรัฐฯ อนุมัติข้อตกลงขายชิ้นส่วนเรือรบให้แก่ไต้หวันมูลค่ารวม 120 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่าจะช่วยให้ไต้หวันสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับกิจกรรมต่าง ๆ ของจีนที่เพิ่มขึ้นในบริเวณน่านน้ำใกล้ไต้หวันได้ ด้านฟิลิปปินส์และมาเลเซียเองก็ได้ประกาศที่จะพัฒนากองเรือของตนให้มีความทันสมัยขึ้นในช่วงแปดปีที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการคุกคามจากภายนอกอีกด้วย
- ที่มา: วีโอเอ