ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ จีน ในฐานะสมาชิกถาวรของกลุ่ม ตัดสินใจไม่ออกเสียงสนับสนุนร่วมมติประณามรัสเซียต่อการส่งกองทัพบุกเข้าไปยังยูเครน แต่ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาซึ่งอาจทำให้มอสโกผิดหวังออกมา โดย จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวต่อที่ประชุมว่า ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนซึ่ง “ควรทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก และไม่ใช่ด่านหน้าของการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจทั้งหลาย”
ที่ผ่านมา จีนใช้การโต้แย้งในเรื่องของอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนมาโดยตลอด เพื่อปฏิเสธความเห็นจากต่างชาติเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีปัญหาต่างๆ เช่น ทิเบต มณฑลซินเจียง และฮ่องกง รวมทั้งใช้ประเด็นนี้ในการต่อต้านแผนการของสหรัฐฯ ในการส่งกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานด้วย
จอห์น คัลเวอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ ทวีตข้อความที่ระบุว่า “การที่รัสเซียผนวกพื้นที่บางส่วนของยูเครนเข้ากับตน หรือการรุกรานและยึดครองกรุงเคียฟ เป็นการฝ่าฝืนจุดยืนของจีนว่า อธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ควรล่วงละเมิดหรือทำลายได้“
ขณะที่การตัดสินใจพยายามทำตัวเป็นกลางของจีนทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า กรุงปักกิ่งเกิดอาการกลัวรัสเซียขึ้นมา หรือว่า การรุกคืบของกองทัพรัสเซียเข้าไปในยูเครนที่ผ่านมานั้นรุนแรงเกินกว่าจีนคาดไว้จนทำให้วางตัวไม่ถูกกันแน่
แต่การยึดจุดยืนเป็นกลางนี้ไม่ได้ช่วยให้จีนหลุดพ้นผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย เมื่อนานาประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรปลุกขึ้นมาประณามรัสเซียพร้อมสั่งดำเนินการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเครมลินกันมากมายแล้ว
ในฐานะผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก จีนมีเหตุผลสมควรอย่างยิ่งที่จะกังวลว่า ตนจะถูกลากเข้าไปรับเคราะห์ร่วมกับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อธนาคารจีนหลายแห่งมีการทำธุรกิจใกล้ชิดกับบริษัทการเงินของรัสเซีย และขณะที่มีบริษัทสัญชาติจีนถึง 254 แห่งที่นำหลักทรัพย์เข้าซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ อยู่ในเวลานี้
นอกจากนั้น การที่จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ผลกระทบจากมาตรการลงโทษที่ขับรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT ก็คือ ปัญหาในการชำระเงินค่าน้ำมันและการที่จีนจะต้องควักเงินค่าน้ำมันที่แพงขึ้นด้วย
SEE ALSO: สหรัฐฯ-อียู-อังกฤษ ขับรัสเซียออกจากระบบ SWIFTความท้าทายที่จีนอาจต้องเผชิญจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่หมดลงเพียงแค่นั้น
หากการรุกรานยูเครนในครั้งนี้ยืดยาวออกไปเป็นเวลานาน จีนน่าจะต้องสูญเสียโอกาสในการทำการค้ามากมาย อาทิ การดำเนินการตามสัญญาระยะเวลา 3 ปี ในการติดตั้งระบบสื่อสารไร้สาย 4จี (4G) ตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเคียฟ ที่บริษัท หัวเหว่ย (Huawei) ทำไว้กับรัฐบาลยูเครน และผลกระทบจากการขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมหาศาลระหว่างทั้งสองประเทศด้วย ตามความเห็นของ เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ตส นักประพันธ์เจ้าของหนังสือ “The Myth of Chinese Capitalism”
ขณะเดียวกัน รัสเซียและยูเครนเองก็มีการทำการค้าในธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบอาวุธทางทหารและกิจการด้านอวกาศกันอยู่ก่อนแล้ว และทั้งคู่ก็เป็นผู้ร่วมนำส่งยานอวกาศลำแรกให้จีนในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ด้วย
ข้อมูลจากกระทรวงกิจการด้านเศรษฐกิจของยูเครนที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงแสดงให้เห็นว่า มูลค่าการค้าระหว่าง}ยูเครนและจีนขยายตัวจากระดับ 7,690 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2017 มาอยู่ที่ราว 8,820 ล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี ค.ศ.2018 ขณะที่ ทั้งสองประเทศตั้งเป้าจะเพิ่มตัวเลขขึ้นเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 เป็นต้นมา
บริษัทด้านกฎหมาย Crane IP ของยูเครนรวบรวมข้อมูลที่สรุปได้ว่า จีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของยูเครนในปี ค.ศ. 2019 โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า ปริมาณการค้าระหว่างทั้งคู่ในปัจจุบันน่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 10,000 ล้านดอลลาร์และ 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
หยาน เหลียง ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิลลาเมตต์ (Willamette University) ในสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนทำการลงทุนในยูเครนเป็นมูลค่าถึงราว 150 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี โดยการลงทุนทั้งหมดนั้นอยู่ในธุรกิจโรงงานไฟฟ้าพลังงานลม โครงการด้านการเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเป็นหลัก
ส่วน ยุ่น ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีน จากศูนย์สติมสัน (Stimson Center) ในกรุงวอชิงตัน เปิดเผยว่า ยูเครนส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวบาร์เล่ย์ และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ไปยังจีน โดยราว 1 ใน 3 ของข้าวโพดที่จีนบริโภคนั้นมาจากยูเครน ขณะที่ จีนยังสั่งซื้อชิ้นส่วนเตาปฏิกรณ์ปรมาณูจากยูเครนด้วย
ยุ่น ซุน กล่าวเสริมว่า สถานการณ์การค้าระหว่าง จีนและยูเครน อาจมีผลด้านบวกสำหรับจีน หากรัสเซียประสบความสำเร็จในการเข้ายึดครองยูเครนและจัดตั้งรัฐบาลที่สนับสนุนตน เพราะภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น ยูเครนจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเป้าการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก จนทำให้จีนกลายมาเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญขึ้นอย่างมาก แต่ ศาสตราจารย์ หยาน เหลียง จากมหาวิทยาลัยวิลลาเมตต์ ชี้ว่า สถานการณ์เช่นนั้นก็หมายถึง การที่จีนจะหมดโอกาสในการพึ่งพายูเครนในฐานะพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ สำหรับการขยายการค้าผ่านไปยังประเทศตะวันตกอื่นๆ ในยุโรปด้วย