ในช่วงหลายวันก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังเข้าบุกยูเครน เจ้าหน้าที่และผู้นำของประเทศตะวันตกหลายคนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสภาพจิตใจของประธานาธิบดีปูตินว่ามีความมั่นคงอยู่หรือไม่ โดยมีหลายคนซึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอากัปกิริยาและลักษณะการพูดของผู้นำรัสเซียที่เปลี่ยนไปว่าอาจจะเข้าข่ายการเสียสติหรือไม่
อย่างเช่นประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวถึงคำปราศรัยของประธานาธิบดีปูตินที่ยอมรับเขตปกครองดอแนตสก์กับลูฮันสก์ว่าเป็นรัฐเอกราชว่าแปลกประหลาดและวกวน ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคนก็กล่าวถึงคำปราศรัยเดียวกันนี้ว่าฟังดูแล้วทำให้รู้สึกน่ายุ่งยากใจ ส่วนนายเจอราด เอรอด อดีตทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐฯ ก็ให้ความเห็นเช่นกันว่าคำปราศรัยของประธานาธิบดีปูตินครั้งนี้เหมือนกับการเพ้อคลั่งจากความหวาดระแวงซึ่งไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
อย่างไรก็ตามความเห็นที่ว่าประธานาธิบดีปูตินอาจจะหลุดลอยออกจากโลกแห่งความเป็นจริงนี้ดูจะแตกต่างจากการประเมินด้านข่าวกรองที่มีอยู่ซึ่งระบุว่าผู้นำรัสเซียคนปัจจุบันเป็นคนที่โหดเหี้ยมอำมหิต เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและเป็นอันตราย รวมทั้งกล้าที่จะเสี่ยงด้วย
วลาดิเมียร์ ปูตินเริ่มการทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ข่าวกรองต่างประเทศกับ KGB ซึ่งเป็นอดีตหน่วยงานตำรวจลับของรัสเซียและเกษียณจากงานด้วยยศพันโทเมื่อปี 1990 หลังจากนั้นในปี 1998 เขารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน FSB ซึ่งรับผิดชอบด้านข่าวกรองและความมั่นคงภายในของรัสเซีย ต่อมาอีกสองปีคือในปีค.ศ. 2000 เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและอยู่ในตำแหน่งตลอดมายกเว้นเฉพาะในช่วงที่สลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัสเซียระหว่างปี 2008 ถึง 2012 เท่านั้น
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงของสหรัฐฯ ทั้งในปัจจุบันและผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเตือนว่าจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดถ้าจะประเมินผู้นำรัสเซียคนนี้ต่ำเกินไป เช่นว่าเป็นคนที่เสียสติ เพราะโดยแท้จริงแล้ววลาดิเมียร์ ปูตินยังเป็นผู้ที่ใคร่ครวญไตร่ตรองเรื่องต่างๆ อย่างสุขุมรอบคอบอยู่
โดยอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯ หลายคนเชื่อว่าความสำเร็จของประธานาธิบดีปูตินจากการตัดสินใจเรื่องปฎิบัติการทางทหารทั้งหลาย เช่น ในเช็คเนีย จอร์เจีย คาบสมุทรไครเมีย และในประเทศซีเรียนั้นทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นและต้องการจะทำความตั้งใจเรื่องการผนวกดินแดนของยูเครนซึ่งไม่ได้ทำให้สำเร็จเมื่อปี 2014 เป็นความจริงขึ้นมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ หลายคนยังเชื่อว่าขณะนี้ประธานาธิบดีปูตินอาจจะมองเห็นจุดอ่อนบางเรื่องของสหรัฐฯ เช่น ความแตกแยกทางการเมืองในประเทศและการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งรีบว่าจะเป็นเหตุผลให้สหรัฐฯ หรือประเทศพันธมิตรตะวันตกไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ขัดแย้งในต่างประเทศอีกครั้ง นอกจากนั้นเหตุผลสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการที่รัสเซียมีจีนเป็นแนวร่วมจากสิ่งที่มีอยู่ร่วมกันคือการมีอเมริกาเป็นศัตรู
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มองว่าวลาดิเมียร์ ปูตินตามที่เห็นในเหตุการณ์วิกฤติเกี่ยวกับยูเครนในปัจจุบันนี้คือวลาดิเมียร์ ปูตินคนเดิม อย่างเช่นอาจารย์เซวา กูนิสกี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่ University of Toronto ชี้ว่าท่วงท่าและสีหน้าของประธานาธิบดีปูตินแสดงการคุกคามมากขึ้น และนั่นก็อาจเป็นผลจากการที่ประธานาธิบดีปูตินห่างเหินจากที่ปรึกษารอบด้านและทำงานอยู่เฉพาะกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงกลุ่มเล็กๆ ที่หวาดระแวงต่อโลก ซึ่งนายเดวิด ซาคอนยี นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย George Washington University ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้และเสริมว่าเรื่องลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับผู้นำแนวอำนาจนิยมโดยทั่วไปที่ไม่ยอมฟังความเห็นจากรอบด้านและรับข้อแนะนำเฉพาะจากคนใกล้ตัวซึ่งมีความคิดคล้ายกันเท่านั้น
แต่ทฤษฎีหรือการวิเคราะห์พฤติกรรมของประธานาธิบดีปูตินแนวที่สามมาจากอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานซีไอเอ คือคุณพอล พิลลาซึ่งขณะนี้สอนอยู่ที่ Georgetown University โดยเขาเชื่อว่าพฤติกรรมแปลกๆ ตามที่ประธานาธิบดีปูตินแสดงออกนั้นอาจเป็นการเล่นอย่างสมบทบาทตามที่วางแผนมาก่อนเป็นอย่างดี
โดยคุณพอล พิลลาเชื่อว่าหากประธานาธิบดีปูตินสามารถทำให้โลกเชื่อว่าตนเสียสติและขาดเหตุผลแล้วเรื่องนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับรัสเซียเอง เพราะอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำกลุ่มประเทศตะวันตกรู้สึกกลัวว่าจะไม่สามารถคาดเดาทางของผู้นำรัสเซียได้ถูก ซึ่งก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจยินยอมผ่อนปรนทำให้รัสเซียจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ