สถานทูตจีนในเมียนมา ได้ขอให้พลเมืองชาวจีนออกจากพื้นที่เขตตอนเหนือบริเวณพรมแดนจีน-เมียนมา เมื่อวันพฤหัสบดี โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ยกระดับขึ้น ในช่วงที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กำลังต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมาในขณะนี้
เหตุปะทะในรัฐฉาน ทางตอนเหนือเมียนมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม หลังจากที่กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance Army - MNDAA) กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) เริ่มต้นการโจมตีเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา
พันธมิตรชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เข้ายึดเมืองและศูนย์กลางสำคัญด้านการค้าบริเวณพรมแดนเมียนมา-จีน ในสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นความท้าทายด้านการทหารครั้งใหญ่ที่สุดของรัฐบาลทหารเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2021
กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ ประกาศว่าจะยึดเมืองเล้าก์ก่าย (Laukkai) ที่ตั้งอยู่ในเขตพรมแดนติดกับจีน ที่อยู่ในการดูแลของกองกำลังติดอาวุธและมีชื่อเสียงในด้านการพนัน การค้าประเวณี และการหลอกลวงทางออนไลน์
ทางสถานทูตจีน ระบุผ่านทางบัญชีวีแชท (WeChat) ว่า “ความขัดแย้งในเมืองเล้าก์ก่ายของเขตปกครองพิเศษโกก้าง ทางตอนเหนือของเมียนมายังดำเนินอยู่ และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้เพิ่มขึ้นสำหรับผู้คนที่ยังติดค้างอยู่ที่นั่น” และว่า “ทางสถานทูตจีนในเมียนมาได้ขอเตือนพลเมืองจีนในเล้าก์ก่ายอีกครั้งให้อพยพโดยเร็วที่สุด”
สื่อที่อยู่ในเครือข่ายของกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ ระบุว่าในสัปดาห์นี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้โจมตีทางอากาศในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ที่บริเวณรอบ ๆ เมืองเล้าก์ก่ายและระเบิดหลายพื้นที่ของเมืองนี้ ซึ่งทางเอเอฟพีได้ติดต่อทางกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมแล้ว
เมื่อต้นเดือนธันวาคม รัฐบาลปักกิ่ง ระบุว่าได้ส่งตัวแทนเพื่อเป็นตัวแทนการเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทั้ง 3 กลุ่มที่รวมตัวเป็นพันธมิตรชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และได้บรรลุข้อตกลงใน “การหยุดยิงชั่วคราว”
แต่เหตุปะทะกันยังคงดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่ในรัฐฉาน ที่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง อ้างว่าได้เข้ายึดครองอีก 2 เมืองในช่วงไม่กี่วันมานี้
นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลปักกิ่งรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทางตอนเหนือของเมียนมาเอาไว้ โดยมีบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับจีน ใช้สกุลเงินหยวนและเครือข่ายโทรศัพท์ของจีนในดินแดนที่อยู่ในการควบคุมของกองกำลังเหล่านี้ด้วย
ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่และพันธมิตรของรัฐบาลทหารเมียนมา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลทหารเมียนมาตึงเครียดขึ้นมาในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เนื่องจากความล้มเหลวของรัฐบาลทหารเมียนมาในการจัดการกับขบวนการต้มตุ๋นออนไลน์ในเมียนมา ที่รัฐบาลปักกิ่งระบุว่าเป็นขบวนการที่มุ่งเป้ามายังพลเมืองชาวจีน
- ที่มา: เอเอฟพี