ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: กองทัพเมียนมาพุ่งเป้าโจมตีพลเรือน-เรียกฝ่ายต้าน 'พวกก่อการร้าย' เพราะสู้กลับ จริงหรือไม่?


สมาชิกกองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง ที่กลายมาเป็นนักรบกองโจร หลังจากเคยเป็นเพียงผู้ประท้วงมาก่อน ขณะยืนประจำที่แถวหน้าของการสู้รบที่เมืองคอคาเระ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2021 (Reuters)
สมาชิกกองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง ที่กลายมาเป็นนักรบกองโจร หลังจากเคยเป็นเพียงผู้ประท้วงมาก่อน ขณะยืนประจำที่แถวหน้าของการสู้รบที่เมืองคอคาเระ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2021 (Reuters)
กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา

กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา

“การกระทำอันไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้นของรัฐบาลติมอร์-เลสเต ไม่ได้เพียงแต่เป็นภัยให้กับความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศ แต่ยังเป็นการส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายให้ก่อเหตุความรุนแรงในเมียนมาต่อไปด้วย”

ทำให้สังคมเข้าใจผิด

รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งขับอุปทูตของติมอร์-เลสเตกลับประเทศ หลังประธานาธิบดีโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา พบกับ ซิน มา อาว รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government - NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา ที่เยือนกรุงดิลี เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เมื่อเดือนที่แล้ว

ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยชูภาพของ ออง ซาน ซู จี ระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกวันครบรอบ 2 ปี การก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2023 (AP)
ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยชูภาพของ ออง ซาน ซู จี ระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกวันครบรอบ 2 ปี การก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2023 (AP)

ในเวลานี้ รัฐบาลทหารผู้ปกครองเมียนมาประกาศให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติมีสถานภาพเป็นองค์กรก่อการร้ายอยู่

กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ระบุเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมว่า “การกระทำอันไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้นของรัฐบาลติมอร์-เลสเต ไม่ได้เพียงแต่เป็นภัยให้กับความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศ แต่ยังเป็นการส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายให้ก่อเหตุความรุนแรงในเมียนมาต่อไปด้วย”

แต่สิ่งที่ทางการเมียนมาที่มีกองทัพเป็นผู้นำกล่าวออกมานี้ เป็นความเท็จ

กองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง (People’s Defense Force – PDF) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ หรือกลุ่มที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลเงา ถูกกล่าวหาว่าทำการโจมตีด้วยการทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลและทำการสังหารสมาชิกกองกำลังที่ตั้งตนอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งผู้ที่ถูกมองว่าทำงานร่วมมือกับรัฐบาล และอีกหลายกลุ่ม

การโจมตีที่ว่านั้นเริ่มต้นหลังกองทัพเมียนมาทำการปราบปรามด้วยการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงต่อต้านการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 โดยหน่วยงาน Independent Investigative Mechanism for Myanmar ขององค์การสหประชาชาติ กล่าวหากองทัพว่า ทำการ “โจมตีอย่างเป็นระบบและเป็นวงกว้างเข้าใส่ประชากรที่เป็นพลเรือน” แล้ว

อย่างไรก็ดี ไม่มีรัฐบาลประเทศใดที่ยอมรับการตั้งสถานภาพของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เป็นกลุ่มก่อการร้ายดังที่รัฐบาลทหารประกาศเลย

ในทางกลับกัน รัฐบาล NUG ประกาศให้รัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administrative Council) มีฐานะเป็นองค์กรก่อการร้าย ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 โดยอ้างเหตุผลการสังหารหมู่พลเรือนและการมีส่วนร่วมกับการคุมขัง ทรมานและใช้ความรุนแรงทางเพศโดยปราศจากเหตุผลและตามอำเภอใจ

ข้อมูลจากผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (U.N. Special Rapporteur) เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่า สภาบริหารแห่งรัฐ “ไม่ใช่รัฐบาลที่ชอบธรรมและไม่ควรได้รับการยอมรับ หรือทำงานร่วมด้วย” ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลนี้ไม่มี “ความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด” และ “ขาดซึ่งการควบคุมประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ”

ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติยอมรับรัฐบาล NUG ในฐานะ “ผู้แทนอันชอบธรรมของประชาชนชาวเมียนมา” ด้วย

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยอมรับรัฐบาล NUG และคณะกรรมาธิการตัวแทน พิทาวซุ ฮลัตตอ (Pyidaungsu Hluttaw) ซึ่งเป็นรัฐสภาพลัดถิ่นที่ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่ต้องหนีออกมาจากเมียนมาหลังเกิดเหตุรัฐประหารในปี 2021 – ว่าเป็น “ผู้แทนหนึ่งเดียวอันชอบธรรมของความปราถนาทางประชาธิปไตยของประชาชนของเมียนมา”

นักวิเคราะห์และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ชี้ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ยุทธศาสตร์การลงโทษแบบเหมากลุ่มต่อพลเรือนด้วยข้ออ้างว่า บุคคลเหล่านั้นสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่อต้านตน และกล่าวด้วยว่า รัฐบาลทหารได้ก่ออาชญากรรมสงครามที่ทำให้เหตุก่อการร้ายที่กล่าวหาต่อกลุ่มต่อต้านตนดูเล็กน้อยกว่ามาก ทั้งในแง่ของวิธีการและระดับความรุนแรง

แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์จากวารสารด้านการทหาร Janes และผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพเมียนมา บอกกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า “ยุทธศาสตร์ของกองทัพ(เมียนมา) คือ การลงโทษประชากรพลเรือนต่อสิ่งที่เชื่อว่า เป็นการสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม” และว่า “(วิธีการนั้น) มีทั้ง การเผาหมู่บ้าน การทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้าน และการบีบประชากรพลเรือนให้ต้องออกจากหมู่บ้านของตน”

รัฐบาลทหารยังมุ่งเน้นการโจมตีเป็นพิเศษไปยังรัฐชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในเมียนมาที่ต่อต้านตนด้วย

และยิ่งเมื่อรัฐบาลทหารเริ่มสูญเสียความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ กองทัพก็ยิ่งโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือนหนักขึ้น

หน่วยงาน Independent Investigative Mechanism for Myanmar ที่องค์การสหประชาชาติแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุดในเมียนมา รายงานว่า ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี 2022 และเดือนมิถุนายน ปี 2023 นั้น กองทัพเมียนมาและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธที่ทำงานให้มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสงคราม 3 ประเภท โดย “มีความถี่และความไร้ยางอายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

อาชญากรรมที่ว่านั้นได้แก่ การทิ้งระเบิดเข้าใส่พลเรือนโดยไม่เลือกหน้าและในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น การสังหารพลเรือนหรือนักรบที่ถูกควบคุมตัวในปฏิบัติการทางทหารของกองทัพ และการเผาที่อยู่อาศัยของพลเรือนและอาคารต่าง ๆ เป็นจำนวนมากอย่างจงใจ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โวลเกอร์ เทิร์ค ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า สำนักงานของเขาบันทึกตัวเลขสถิติการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกหน้าที่เพิ่มขึ้นถึง 33% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว “โดยมีการโจมตีเพิ่มขึ้นในเป้าหมายพลเรือน ซึ่งรวมความถึง หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลและศาสนสถานต่าง ๆ”

ข้อมูลจากยูเอ็นยังแสดงให้เห็นด้วยว่า รัสเซียเป็นผู้จัดส่งและทำการบำรุงรักษาเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการโจมตีที่ว่า

เทิร์ค กล่าวด้วยว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังคงเดินหน้ารวบรวมข้อมูลการทำผิดกฏหมายต่าง ๆ ของกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการใช้ความรุนแรงทางเพศ การสังหารหมู่ การทำวิสามัญฆาตกรรม การตัดหัว การแยกส่วนแขนขา หรือการทำให้เหยื่อเป็นคนพิการ

หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ว่า “การใช้ความโหดร้ายต่อพลเรือน” ของรัฐบาลทหารนั้นกำลัง “ยกระดับขึ้น” เรื่อย ๆ แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ทิ้งสิ่งที่องค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ระบุว่า เป็น “ระเบิดสุญญากาศ” เข้าใส่หมู่บ้านพะซิจี (Pa Zi Gyi) ในรัฐสะกายทางภาคกลางของเมียนมา เป็นต้น

กองทัพเมียนมาอ้างว่า ฝ่ายตนได้สังหาร “ผู้ก่อการร้าย” ที่มาจากกองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง ขณะที่ หนังสือพิมพ์ The Washington Post รายงานว่า มีเด็กอย่างน้อย 25 คน อยู่ใน 157 คนที่ถูกทหารเมียนมาสังหารไป

ทั้งนี้ รัฐสะกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นจุดที่เกิดเหตุรัฐบาลทำการสังหารหมู่ซ้ำ ๆ อยู่บ่อยครั้ง

กองกำลังรัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธที่ใกล้ชิดยังมุ่งเน้นการโจมตีเข้าใส่รัฐสะกายด้วยการใช้ไฟเผาบ้านเรือนมากกว่าจุดอื่น ๆ ของประเทศด้วย

กลุ่ม Data for Myanmar ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รวบรวมข้อมูลด้านการโจมตีด้วยการจุดไฟเผา รายงานในเดือนสิงหาคมนี้ว่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 มา กองกำลังรัฐบาลทหารเมียนมาได้เผาบ้านเรือนไปแล้วเกือบ 75,000 หลังใน 7 รัฐของพื้นที่ 6 ภูมิภาค

บ้านเรือนในรัฐสะกายนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 77% ของบ้านที่ถูกทหารเมียนมาเผาไป

รัฐบาล NUG ยังกล่าวหารัฐบาลทหารว่า ทำการสังหารพลเรือนไปไม่น้อยกว่า 1,595 คนจากการก่อเหตุสังหารหมู่ 144 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 และเดือนกรกฎาคม ปี 2023

ส่วนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ที่มีกลุ่มชนชาวเมียนมาพลัดถิ่นเป็นผู้บริหาร กล่าวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมว่า ประชาชนราว 4,009 คนได้ถูกสังหารไปนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเป็นต้นมา

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG