โดนัลด์ ทรัมป์ และนานาข้อหาคดีเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ ปี 2020

อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามอ้างโดยปราศจากหลักฐานว่า ตนคือ ผู้ที่น่าจะชนะการเลือกตั้งปี 2020 แต่ล่าสุด ในวันอังคาร อัยการของรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดข้อมูลคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่า อดีตผู้นำรายนี้เป็นผู้ที่พยายามปล้นผลการเลือกตั้งเสียเอง

เอกสารคำฟ้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวหาทรัมป์ว่า ทำการสมคบคิดอย่างโจ่งแจ้งกับบรรดาพันธมิตรของตนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่าง ๆ และเสกสรรปั้นแต่งแผนขึ้นมาพลิกผลการเลือกตั้งที่ตนเป็นฝ่ายแพ้ให้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน หลังความพยายามสู้คดีในศาลล้มไม่เป็นท่า

แจ็ค สมิธ อัยการพิเศษของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ขณะแถลงเกี่ยวกับเอกสารคำฟ้องอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2023 ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน

ข้อหาอาญาต่าง ๆ ที่ แจ็ค สมิธ อัยการพิเศษของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ รวบรวมมาอ้างอิงจากคำพูดของทนายประจำทำเนียบขาวและบุคคลอื่น ๆ จากวงในของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ที่พร่ำบอกทรัมป์เสมอว่า ไม่ได้มีเหตุความผิดปกติในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเลย

และการสั่งฟ้องทรัมป์ในคดีอาญาครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 3 ของปี แต่เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามทำให้ตัวเต็งหนึ่งจากพรรครีพับลิกันที่จะลงสนามชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า เป็นผู้รับผิดชอบต่อความพยายามต่าง ๆ ที่จะยึดเก้าอี้เอาไว้ นับตั้งแต่มีการประกาศผลการเลือกตั้งไปจนถึงวันที่ 6 มกราคม ปี 2021 ที่มีเหตุการณ์ก่อจลาจลบุกอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน

อย่างไรก็ดี ทรัมป์ยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิดและกล่าวหาอัยการสมิธและกระทรวงยุติธรรมว่า พยายามทำร้ายแผนการหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ของตน

เอพี รวบรวมรายละเอียดข้อหาต่าง ๆ ที่มีการสั่งฟ้องอดีตปธน.ทรัมป์ รวมทั้งประเด็นสำคัญอื่น ๆ ในคำฟ้องได้ดังนี้

ทรัมป์เผชิญข้อหาอะไรบ้าง?

มีการยื่นฟ้องทรัมป์ถึง 4 ข้อหา ได้แก่ การขัดขวางกระบวนการทางการ การสมคบคิดเพื่อขัดขวางกระบวนการทางการ การสมคบคิดเพื่อหลอกหลวงประเทศ และการสมคบคิดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นดำเนินการตามสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

ในกรณีของข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางต่าง ๆ ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุดด้วยการจำคุกถึง 20 ปีนั้น เป็นการอ้างอิงถึงการประชุมร่วมสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2021 เพื่อรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มี โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะอย่างเป็นทางการ ขณะที่ ข้อหาว่าด้วยการสมคบคิดเพื่อขัดขวางกระบวนการทางการนั้นก็มีโทษสูงสุดเป็นการจำคุก 20 ปีเช่นกัน

ภาพของสมาชิกกลุ่ม Oath Keepers ที่ร่วมบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ

ทั้งนี้ อัยการสหรัฐฯ ยังสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหากว่า 1,000 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภา ซึ่งรวมถึงสมาชิกกลุ่มขวาจัด Oath Keepers และ Proud Boys ในข้อหาว่าด้วยการขัดขวางเช่นกัน โดยมีจำเลยไม่น้อยกว่า 100 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่ก็ยอมรับผิดต่อข้อกล่าวหาทั้งหมดไปแล้ว

สำหรับข้อหาว่าด้วยการสมคบคิดเพื่อหลอกหลวงสหรัฐฯ ที่มีบทลงโทษสูงสุดคือ การจำคุก 5 ปี ศาลสูงสหรัฐฯ ให้รายละเอียดว่า เป็นข้อหาที่ห้ามไม่ให้มีความพยายามขัดขวางหรือแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล “ด้วยการใช้กลฉ้อฉล เล่ห์กระเท่ห์ หรือกลอุบายต่าง ๆ หรืออย่างน้อย ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต” โดยคำฟ้องที่อัยการพิเศษเปิดเผยออกมานั้นอ้างว่า ทรัมป์ใช้ “ความไม่สุจริต การหลอกลวงและกลฉ้อฉล “ เพื่อขัดขวางการนับคะแนนและการรับรองผลการเลือกตั้ง

เอกสารคำฟ้องนี้ระบุด้วยว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งผลการเลือกตั้ง และยังกล่าวอ้างความเท็จว่า ตนเป็นผู้ชนะ โดยในข้อหาที่มีการยื่นฟ้องนี้มีที่มาจากสิ่งที่ทีมอัยการระบุว่า เป็นความพยายามอันผิดกฎหมายที่จะล้มล้างผลการเลือกตั้งและปิดกั้นการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติด้วย

นอกจากนั้น คำฟ้องยังกล่าวอ้างว่า มีการวางแผนนานนับสัปดาห์เพื่อดำเนินการที่ว่า ซึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้แรงกดดันบรรดาสมาชิกสภารัฐและเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งของรัฐให้เปลี่ยนผลการเลือกตั้งจากไบเดนเป็นทรัมป์ ก่อนที่จะยกระดับเป็นการจัดทีมผู้แทนเลือกตั้งประธานาธิบดีปลอม ๆ ที่อ้างว่าสนับสนุนทรัมป์มายังสภาคองเกรสด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์และเหล่าพันธมิตรยังพยายามใช้กระทรวงยุติธรรมเพื่อจัดการสอบสวนกรณีการทุจริตการเลือกตั้งปลอม ๆ เพื่อผลักดันแผนการนำเสนอผู้แทนเลือกตั้งปลอมของตน ตามข้อมูลจากเอกสารคำฟ้อง

แฟ้มภาพ - อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และอดีตรองปธน.ไมค์ เพนซ์ ยืนเคียงคู่กันระหว่างแถลงเกี่ยวกับผลการนับคะแนนเบื้องต้นของการเลือกตั้งปธน. ปี 2020 ที่ห้อง East Room ของทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2020

คำฟ้องนี้ยังกล่าวอ้างด้วยว่า ก่อนจัดการประชุมร่วมสภาคองเกรสวันที่ 6 มกราคม ทรัมป์และเหล่าพันธมิตรกดดันรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ให้ปฏิเสธผลการเลือกตั้งในบางจุด แต่เมื่อความพยายามดังกล่าวล้มเหลว อดีตประธานาธิบดีสั่งการให้กลุ่มผู้สนับสนุนเดินทางไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อขัดขวางกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งของสมาชิกสภาคองเกรส

ท้ายสุด เอกสารคำฟ้องชี้ว่า ทรัมป์และผองพวกพยายามใช้ประเด็นการบุกรัฐสภาของกลุ่มผู้สนับสนุนให้เป็นประโยชน์ต่อตน ด้วยการยกระดับความพยายามเผยแพร่คำโกหกเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพูดให้สมาชิกสภาคองเกรสยอมเลื่อนกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งให้ไบเดนเป็นผู้ชนะอย่างเป็นทางการ

ข้อมูลในเอกสารคำฟ้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวว่า “ทฤษฎีสมคมคิดแต่ละทฤษฎีนั้น ซึ่งปั้นแต่งมาจากความคลางแคลงใจที่แพร่หลายอยู่ทุกหนระแหงซึ่งจำเลยสร้างขึ้นจากคำโกหกที่สั่นคลอนเสถียรภาพและกระจายไปทั่ว โดยพุ่งเป้าไปยังหน้าที่พื้นฐานหลักของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งก็คือ กระบวนการรวบรวม นับ และรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศ”

ข้อหา ‘ทฤษฎีสมคบคิดล้มล้างต้านสิทธิ์’ คืออะไร?

อดีตปธน.ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่า ทำผิดตัวบทกฎหมายว่าด้วยสิทธิพลเมืองที่ประกาศใช้ตั้งแต่สมัยหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ซึ่งชี้ว่า การสมคบคิดเพื่อแทรกแซงสิทธิ์ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นอาชญากรรม โดยในกรณีของทรัมป์ หมายถึง สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงและการที่คะแนนเสียงของคนทุกคนต้องถูกนับ โดยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินว่า ทำความผิดต่อกฎหมายนี้คือ การจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 10 ปี

บทบัญญัตินี้เดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายชุดหนึ่งที่ผ่านออกมาใช้งานตั้งแต่ปี 1870 เพื่อรับมือกับเหตุความรุนแรงและการที่สมาชิกกลุ่ม ‘คู คลักซ์ แคลน’ (Ku Klux Klan) ที่ออกอาละวาดข่มขู่ผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวสี ไม่ให้ไปใช้สิทธิ์ที่คูหาเลือกตั้ง

แต่กฎหมายนี้ถูกนำมาใช้อ้างอิงในคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเลือกตั้งมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึง การดำเนินคดีเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดเพื่อไม่ให้มีการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง แม้การดำเนินการตามทฤษฎีสมคบคิดนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม

มีใครอื่นถูกฟ้องบ้าง?

อดีตปธน.ทรัมป์ คือ จำเลยคนเดียวในการสั่งฟ้อง แม้จะมีการพูดถึงผู้สมรู้ร่วมคิดอื่น ๆ อีก 6 คนที่ไม่มีการเอ่ยชื่อในเอกสารคำฟ้องก็ตาม ถึงกระนั้น รายละเอียดในเอกสารดังกล่าวก็มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้มีการระบุตัวตนบุคคลเหล่านั้นได้

ณ เวลานั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทำไมบุคคลเหล่านั้นถึงไม่ถูกฟ้อง หรือว่า อัยการอาจจะเพิ่มชื่อบุคคลเหล่านั้นในเอกสารคำฟ้องภายหลังหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้สมคบคิดที่ว่า มีทั้งทนายความรายหนึ่ง “ที่ยินดีที่จะเผยแพร่คำกล่าวอ้างปลอม ๆ และดำเนินการตามกลยุทธ์ทั้งหลาย โดยรู้อยู่แก่ใจ” โดยกลยุทธ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทนายความทีมงานเลือกตั้งปี 2020 ของทรัมป์จะไม่ยอมทำตาม รวมทั้ง ทนายความอีกคนที่ “กล่าวอ้างโดยไม่มีมูลว่า เกิดเหตุทุจริตการเลือกตั้ง” ในแบบที่แม้แต่ทรัมป์ยังยอมรับกับคนอื่นว่า ฟังดูแล้ว เป็นเรื่อง “บ้าบอ” ขณะที่ ผู้สมคบคิดอีกรายเป็น ที่ปรึกษาด้านการเมืองที่ช่วยจัดชื่อคณะผู้แทนเลือกตั้งปลอม ๆ ให้ทรัมป์

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้?

มีการการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตันแล้ว โดยมีการคาดกันว่า ทรัมป์จะปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในศาลในวันพฤหัสบดีด้วย

ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลกรุงวอชิงตันได้ทำการไต่สวนคดีหลายร้อยคดีเกี่ยวกับผู้สนับสนุนทรัมป์ที่ถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมการก่อจลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2021 และหลายคนก็กล่าวว่า ตนถูกหลอกโดยคำลวงเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหลายที่มาจากปากของทรัมป์และพวกพ้อง

อดีตผู้นำสหรัฐฯ ส่งสัญญาณออกมาว่า อย่างน้อย ทนายของตนจะเดินหน้ายึดแนวทางการสู้คดีว่า ตนนั้นเชื่ออย่างมากว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2020 ของตนถูกปล้นไป หลังเพิ่งโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ผมมีสิทธิ์ที่จะคัดค้านการเลือกตั้งที่ผมมั่นใจอย่างเต็มที่ว่า มีการโกงและถูกปล้นไป เหมือนกับที่พวกพรรคเดโมแครตที่ทำกับผมในปี 2016 และหลายคนที่เคยทำกันมาหลายชั่วอายุคน”

อย่างไรก็ดี ทีมอัยการได้รวบรวมหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า มีผู้แจ้งต่อทรัมป์หลายต่อหลายครั้งแล้วว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ นั้นคือ ผู้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

นอกจากคดีล่าสุดนี้แล้ว ทรัมป์มีกำหนดต้องขึ้นศาลในรัฐนิวยอร์กในเดือนมีนาคมของปีหน้า เพื่อต่อสู้คดีว่าด้วยการใช้เงินปิดปากระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 และขึ้นศาลในรัฐฟลอริดาในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ เพื่อสู้คดีเกี่ยวกับกรณีการค้นพบเอกสารชั้นความลับที่บ้านพัก มาร์-อะ-ลาโก ของเขาด้วย

  • ที่มา: เอพี