อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกตั้งข้อหาคดีอาญาถึง 34 กระทงที่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงข้อมูลทางธุรกิจโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่อาจทำให้อดีตผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 4 ปีต่อ 1 กระทง ตามข้อมูลจากเอกสารคำฟ้องของคณะลูกขุนใหญ่นครนิวยอร์กที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยออกมา
การสั่งฟ้องในวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีทั้งที่อยู่ในตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ถูกดำเนินคดีอาญา และเกิดขึ้นขณะที่ ทรัมป์กำลังเร่งเครื่องหาทางเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าอยู่
เอกสารสั่งฟ้องที่ว่านี้ได้รับการเปิดออกมาในช่วงบ่ายวันอังคาร หลังทรัมป์ปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษาศาลสูงรัฐนิวยอร์ก และไม่ยอมรับผิดในข้อกล่าวหาทุกกระทง
การดำเนินคดีฟ้องทรัมป์นั้นมีที่มาจากประเด็นการจ่ายเงินปิดปากที่ ไมเคิล โคเอน อดีตทนายความของอดีตประธานาธิบดีเป็นผู้จ่ายในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ให้กับอดีตดาราหนังผู้ใหญ่ สตอร์มีย์ แดเนียลส์ เพื่อไม่ให้พูดถึงความสัมพันธ์ของกับทรัมป์ที่เธออ้างว่า เกิดขึ้นเหมือนราว 10 ปีก่อนหน้านั้น
อัยการระบุว่า เงินค่าปิดปากมูลค่า 130,000 ดอลลาร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปิดเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้ทำลายชื่อเสียงของทรัมป์ในช่วงหาเสียง โดยแผนการนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ทรัมป์ และทนาย โคเอน รวมทั้ง เดวิด เพ็กเกอร์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ National Enquirer ที่ซื้อสิทธิ์เรื่องราวต่าง ๆ มาแต่ไม่เคยตีพิมพ์สักเรื่อง
อัยการยังเปิดเผยด้วยว่า เพ็กเกอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับทรัมป์มานาน ทำการจ่ายเงิน 2 ก้อนให้กับ อดีตนางแบบเพลย์บอยอีกคน และพนักงานเปิดประตูอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ อีกคนที่อ้างว่า ทรัมป์เป็นพ่อของบุตรนอกสมรสคนหนึ่ง ซึ่งต่อมา มีการตรวจสอบพบว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องเท็จ
ส่วนทรัมป์นั้น เขาจ่ายเงินคืนให้กับโคเอน สำหรับเงินก้อนที่เขาจ่ายให้กับ แดเนียลส์ ในปี ค.ศ. 2017 แต่อัยการกล่าวว่า อดีตประธานาธิบดีผู้นี้บันทึกรายละเอียดเงินก้อนนี้ว่าเป็น ค่าใช้จ่าย “บริการทางกฎหมาย” ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะทนายโคเอน ไม่ได้ให้บริการทางกฎหมายใด ๆ เพื่อรับค่าตอบแทนนี้ ถึงกระนั้น อัยการระบุว่า ทรัมป์ทำการจ่ายเงินให้โคเอนและโดยอ้างใบแจ้งหนี้ปลอมจากโคเอน ก่อนจะออกใบสำคัญจ่าย (voucher) และทำเช็คจ่ายให้อดีตทนายของตนเดือนละ 35,000 ดอลลาร์อีกหลายฉบับ
อัยการแขวงนิวยอร์ก อัลวิน แบรกก์ ผู้นำการสืบสวนในคดีนี้ กล่าวว่า กระบวนการหลอกลวงแบบเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นอีกหลายครั้งตลอดช่วงปี 2017 ด้วย โดยแบรกก์ ระบุระหว่างการแถลงข่าวหลังการขึ้นศาลของทรัมป์ในวันอังคารว่า “นานติดต่อกันถึง 9 เดือน” และว่า “จำเลยนั้นมีเอกสารอยู่ในมือ ที่มีข้อมูลสำคัญนี้อยู่ ที่(ชี้ว่า) เขาจ่ายเงินให้ ไมเคิล โคเอน สำหรับบริการทางกฎหมายที่ได้รับในปี 2017”
สำหรับการฟ้องร้องครั้งนี้ อัยการระบุว่า มี “บันทึกรายการธุรกิจปลอม” ทั้งหมด 34 ครั้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และเดือนธันวาคม ปี 2017 โดยแต่ละครั้งนี้มีใบแจ้งหนี้ของโคเอน ใบสำคัญจ่ายจาก ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน (Trump Organization) หรือ เช็คที่สั่งจ่ายโดยทรัมป์หรือบริษัทของเขาประกอบอยู่เสมอ โดยบันทึกทั้งหมดนี้คือหลักฐานสำหรับการดำเนินคดีอาญา 34 กระทงต่อทรัมป์
ทั้งนี้ ข้อมูลเอกสารสั่งฟ้องเปิดเผยให้ทราบว่าข้อหาแต่ละกระทงนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดบ้างอย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น กระทงที่ 1 นั้นเป็นใบแจ้งหนี้ใบแรกที่โคเอนยื่นให้กับ ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน และลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2017 โดยระบุจำนวนเงินไว้ที่ 70,000 ดอลลาร์ สำหรับ “บริการทางกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ แต่ข้อหาสั่งฟ้องแย้งว่า เงินก้อนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่ทรัมป์จ่ายคืนให้โคเอน สำหรับเงินที่เขาจ่ายให้กับ แดเนียลส์
ส่วนกระทงที่ 2 และ 3 นั้น เกี่ยวข้องกับใบสำคัญจ่าย 2 ฉบับที่ ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน ออกมาตามใบแจ้งหนี้ใบหนึ่ง ส่วนกระทงที่ 4 เป็นเรื่องของเช็คมูลค่า 70,000 ดอลลาร์ที่กองทรัสต์ Donald J. Trump Revocable Trust ส่งจ่ายให้กับโคเอน เป็นต้น
โดยรวมแล้ว โคเอน ได้รับเช็คทั้งหมด 11 ฉบับจากทรัมป์ซึ่งมีมูลค่าร่วม 420,000 ดอลลาร์ โดยเช็ค 2 ฉบับแรกนั้นมาจากกองทรัสต์ของทรัมป์ และที่เหลือมาจากบัญชีส่วนตัวของเขาในช่วงที่เข้ามาปฏิบัตหน้าที่ผู้นำประเทศที่ทำเนียบขาวแล้ว
รายละเอียดทั้งหมดนี้ที่ทีมอัยการระบุว่าเป็นแผนอุบายของทรัมป์และทีมงานมีอยู่ในเอกสารที่เรียกว่าเป็น “คำแถลงการณ์ข้อเท็จจริง” (statement of facts) ที่ยื่นประกอบคำฟ้อง โดยมีการระบุว่า “เช็คแต่ละฉบับที่ ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน ออกมา และเช็คแต่ละฉบับนั้นถูกปลอมแปลงว่าเป็นการชำระเงินค่าบริการทางกฎหมายในเดือนต่าง ๆ ของปี 2017 โดยอ้างถึงข้อตกลงว่าจ้างทนายความ” และว่า “บันทึการชำระเงิน ที่ถูกเก็บรักษาไว้โดย ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน ถือเป็น “บันทึกรายการธุรกิจในนิวยอร์กที่เป็นเท็จ”
ภายใต้กฎหมายของรัฐนิวยอร์ก การปลอมแปลงบันทึกรายงานธุรกิจหรือการลง “บันทึกรายการทางธุรกิจขององค์กร/กิจการ” ถือเป็นอาชญากรรมในรัฐนี้
อัยการแบรกก์ เรียกคดีนี้ว่าเป็น “งานหลักที่ทำกันเป็นประจำ” ของทีมงานของตนในการทำคดีอาชญากรรมคอปกขาว (White Collar Crime) ซึ่งก็คือ อาชญากรรมที่ก่อเหตุโดยบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานนั้นโดยมิชอบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน “
โดยปกติ ผู้ทำความผิดในคดีประเภทนี้มักถูกสั่งฟ้องในข้อหาคดีลหุโทษ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี แต่ก็อาจถูกยกระดับขึ้นมาเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษสูงสุดคือ การจำคุก 4 ปี หากมีการพิสูจน์ว่า ผู้กระทำผิดมีความตั้งใจ หรือ เพื่อปกปิดคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง
ขณะที่ การสั่งฟ้องครั้งนี้ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่า ทรัมป์ทำความผิดอื่น ๆ อย่างไร อัยการอ้างถึงกรณีที่อาจมีการทำผิดกฎหมายหลายอย่างที่น่าจะสามารถนำมาใช้เป็น “ความผิดมูลฐาน” ในคดีนี้ได้ ในคำแถลงการณ์ข้อเท็จจริงและในการให้ความเห็นต่อสาธารณะ หลังการปรากฏตัวในศาลของอดีตประธานาธิบดีรายนี้
กรณีที่อาจเป็นการทำผิดอย่างหนึ่งภายใต้กฎหมายเลือกตั้งรัฐนิวยอร์กก็คือ การ “ส่งเสริมหรือป้องกัน” การเลือกตั้งของผู้สมัครรายหนึ่ง ๆ ด้วย “วิธีที่ผิดกฎหมาย” ถือเป็นอาชญากรรมในรัฐนี้ โดยคำว่า “วิธีที่ผิดกฎหมาย” ในนิวยอร์ก มักหมายถึง การกระทำใด ๆ ก็ตามที่กฎหมายไม่ให้อนุญาตไว้
ส่วนความน่าจะเป็นอีกข้อก็คือ การทำผิดกฎหมายของรัฐนิวยอร์กว่าด้วยภาษี เพราะมีการรายงานเท็จต่อหน่วยงานด้านภาษีของนิวยอร์กว่า เงินค่าปิดปาก สตอร์มีย์ แดเนียลส์ นั้นเป็นรายได้
โจชัว สแตนตัน ทนายความจากบริษัทกฎหมาย Perry Guha ให้ความเห็นว่า ข้อกล่าวหาการทำความผิดอาชญากรรมรองอื่น ๆ นั้นอาจเปิดทางให้อัยการแย้งได้ว่า แต่ละครั้งที่ทรัมป์ทำผิดกฎหมายการบันทึกรายการทางธุรกิจของนิวยอร์ก แสดงให้เห็นถึงความตั้งว่าจะทำความผิดอื่น ๆ ตามมาอีกหลายครั้ง
สแตนตัน ซึ่งเขียนบทความเกี่ยวกับคดีนี้ออกมาหลายชิ้น บอกกับ วีโอเอ ว่า หากอัยการสามารถแสดงให้เห็นว่า มีการตั้งใจที่จะก่ออาชญากรรมใด ๆ ที่กล่าวอ้างมาได้ ก็น่าจะทำให้คดีนี้จบลงด้วยการตัดสินว่า จำเลยมีความผิดได้
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายรายตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางด้านกฎหมายที่เป็นหัวใจของการสั่งฟ้องนี้
จอห์น มัลคอม รองประธานของ Heritage Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิหัวอนุรักษ์นิยม กล่าวว่า ขณะที่ คดีที่มีการสั่งฟ้องนี้ไม่ได้มี “น้ำหนักมากเป็นพิเศษ” ก็ไม่ควรสรุปกันว่า คดีนี้อาจล้มไปได้ และบอกกับ วีโอเอ ว่า “นี่คือกระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ คุณต้องมองว่าเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ” และยอมรับว่า “แต่ผมก็คิดว่า นี่เป็นข้อหาที่แปลกมาก ๆ”
มัลคอม กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนมองว่า ทรัมป์ น่าจะมีเหตุผลมาแก้ต่างมากมายในการสู้คดีนี้ ขณะที่พยายามทำให้คดีนี้ถูกยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า เป็นการดำเนินคดีแบบเลือกปฏิบัติ โดยน่าจะอ้างว่า ไม่มีใครที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขาจะถูกดำเนินคดีแบบนี้ ซึ่ง “ผมคิดว่า นั่นก็น่าจะเป็นเรื่องจริง”
- ที่มา: วีโอเอ