อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเผชิญกับสารพัดการสืบสวนคดีอาญาตามกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และตามกฎหมายระดับรัฐ จากการเคลื่อนไหวของเขาต่าง ๆ ของเขาที่พยายามพลิกผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ที่เขาพ่ายแพ้แก่โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต
การสืบสวนเหล่านี้มีขึ้นขณะที่ทรัมป์ส่งสัญญาณว่า เขาอาจลงชิงตำแหน่ง ปธน. อีกครั้งในปี 2024 และเมื่อวันจันทร์ หน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ เข้าค้นบ้านของทรัมป์ที่ มาร์-อะ-ลาโก ในรัฐฟลอริดา โดยมีรายงานว่า เอฟบีไอต้องการหาเอกสารลับที่ทรัมป์อาจนำออกมาจากทำเนียบขาวเมื่อปีที่แล้ว
การค้นบ้านครั้งนี้ได้รับอนุมัติจากศาล และอาจเป็นมาตรการขั้นสูงสุดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดและเหตุผลของหมายค้นนี้ ขณะที่ทำเนียบขาวระบุว่า ไม่ได้รับแจ้งก่อนที่เอฟบีไอจะดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย Presidential Records Act ปี 1978 บันทึกทางการของ ปธน. และรอง ปธน. ทั้งหมดเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว แม้หลังจากพวกเขาจะออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม
หลังออกจากตำแหน่งแล้วราวหนึ่งปี ทรัมป์ส่งเอกสาร 15 กล่อง ซึ่งเป็นเอกสารในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง ปธน. ให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่าเอกสารบางส่วนเป็นเอกสารลับ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่ค้นสำนักงานและเปิดตู้เซฟของทรัมป์ในมาร์-อะ-ลาโก ขนเอกสารออกมาอีกเพิ่มเติมจากที่ทรัมป์เคยส่งคืนให้ทางการ
ทรัมป์แสดงท่าทีดูแคลนการสืบสวนดังกล่าว เช่นเดียวกับการสืบสวนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ซึ่งอาจทำให้เขาลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2024 ไม่ได้
อดีตผู้นำสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่มืดมิดของประเทศของเรา ขณะที่บ้านมาร์-อะ-ลาโก อันสวยงามของผม ที่เมืองปาล์มบีช รัฐฟอลริดา กำลังถูกค้นและยึดโดยเจ้าหน้าที่เอฟบีไอกลุ่มใหญ่” และ “ไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาก่อน”
ทรัมป์ยังกล่าวต่อในแถลงการณ์ว่า การค้นนี้เป็นผลจาก “การดำเนินคดีที่ผิดพลาด การติดอาวุธให้ระบบยุติธรรม และการโจมตีโดยพวกเดโมแครตซ้ายจัดที่ไม่ต้องการให้ผมลงชิงตำแหน่งในปี 2024 เสียเหลือเกิน” และเหตุค้นบ้านนี้ “ควรเกิดขึ้นแค่ในประเทศโลกที่สามที่ล่มสลาย น่าเศร้าที่อเมริกากลายเป็นประเทศกลุ่มนั้นแล้ว มีการทุจริตมากในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”
ทรัมป์ยังคงได้รับความนิยมกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงของพรรคริพับลิกัน แม้ว่าจะมีสมาชิกพรรคริพับลิกันคนอื่น ๆ ส่งสัญญาณว่าจะลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคริพับลิกัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เช่นกัน เช่น อดีตรอง ปธน. ไมค์ เพนซ์, รอน ดีซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา เป็นต้น
การสืบสวนที่ยังเดินหน้าต่อไป
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังสืบสวนบทบาทของทรัมป์ในการปลุกปั่นเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 โดยเหตุดังกล่าว ผู้สนับสนุนทรัมป์ราว 2,000 คน ค้นเข้าอาคารเพื่อขัดขวางสมาชิกสภาไม่ให้รับรองชัยชนะเลือกตั้งของไบเดนก่อนเกิดเหตุ ทรัมป์กล่าวให้ผู้สนับสนุนของเขาเดินไปยังอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ และ “สู้เต็มที่”
แม้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรียุติธรรมในขณะนั้น จะกล่าวกับทรัมป์หลายครั้งว่าไม่มีหลักฐานการโกงการนับคะแนนมากพอที่จะพลิกผลการเลือกตั้งได้ แต่ทรัมป์ก็ยังเรียกร้องให้เพนซ์ยุติกระบวนการรับรองการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ที่ลงคะแนนให้ไบเดน อย่างไรก็ตาม เพนซ์ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว หลังได้รับการแนะนำว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจเขาในการยุติกระบวนการนั้น
เจ้าหน้าที่ยังสอบสวนบทบาทของทรัมป์ในการวางแผนเสนอชื่อคณะผู้เลือกตั้งในรัฐที่เขาแพ้การเลือกตั้ง เพื่อหวังนำมาแทนที่คณะผู้เลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่จะลงคะแนนให้ไบเดนตามผลการเลือกตั้งในรัฐดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามกฎหมายของสหรัฐฯ ผลการเลือกตั้งในแต่ละรัฐของประเทศจะเป็นตัวตัดสินผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่ใช่คะแนนเลือกตั้งโดยรวมทั่วประเทศ และจำนวนคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐจะเป็นสัดส่วนตามจำนวนประชากรในรัฐนั้น ๆ ทำให้รัฐที่มีขนาดใหญ่จะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมาก โดยผู้ก่อเหตุค้นอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในชณะนั้น ต้องการขัดขวางไม่ให้สมาชิกสภารับรองผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ที่ลงคะแนนให้ไบเดนชนะด้วยคะแนน 306-232
นอกจากนี้ อัยการรัฐจอร์เจียยังสืบสวนกรณีที่ทรัมป์อาจจูงใจให้มีการโกงเลือกตั้ง โดยในบทสนทนาเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ปีที่แล้ว ทรัมป์ขอให้เลขานุการรัฐจอร์เจีย “หา” คะแนนเสียงให้เขา 11,780 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนคะแนนมากกว่าคะแนนที่ไบเดนชนะเขาไปหนึ่งคะแนน จากบัตรลงคะแนน 5 ล้านใบในรัฐจอร์เจีย โดยทรัมป์กล่าวระหว่างการสนทนาที่ถูกบันทึกว่า “ผมแค่ต้องการ 11,000 คะแนน เพื่อน ผมต้องการ 11,000 คะแนนนะ”
- ที่มา: วีโอเอ