สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รายงานสรุปของทำเนียบขาวซึ่งเผยแพร่ออกมาขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กำลังเยือนเวียดนาม มีความยาวทั้งหมดมากกว่า 2,600 คำ แต่ในส่วนที่พูดถึงสิทธิมนุษยชนนั้นมีเพียง 112 คำเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ผู้นำสหรัฐฯ ค่อนข้างสงวนท่าทีเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนามและอินเดีย แลกกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ จริงหรือไม่?
ในมุมมองทางการค้าและเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การเยือนเวียดนามและอินเดียของประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีที่อาจช่วยให้อเมริกาสามารถคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ได้
แต่สำหรับนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ภารกิจของไบเดนครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความผิดหวัง เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันชุดนี้รับปากไว้เมื่อเข้าบริหารประเทศเมื่อปี 2021 ว่าจะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้น ๆ
ที่เวียดนาม ไบเดนยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามเป็น "หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน" (Comprehensive Strategic Partnership) และเพิ่มความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีคลาวน์ เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยข้อตกลงขายเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 737 แมกซ์ จำนวน 50 ลำ มูลค่า 7,800 ล้านดอลลาร์ ให้แก่สายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ด้วย
ในกรณีของเวียดนาม HRW ระบุว่า รัฐบาลเวียดนามจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองอย่างน้อย 159 คน และในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ศาลที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้สั่งตัดสินจำคุกนักโทษการเมืองอย่างน้อย 15 คนเป็นเวลาหลายปีซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขาที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวที่เวียดนามถามประธานาธิบดีไบเดนว่า เขาได้นำเรื่องผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ขึ้นมาก่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่? ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า ตนได้หยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหารือกับทุกคนที่พบ
แต่ จอห์น ซิฟตัน แห่ง ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ บอกว่า การนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่ส่วนตัวนั้นไม่เพียงพอ และรัฐบาลเหล่านั้นจำเป็นต้องรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนของตนเอง
- ที่มา: รอยเตอร์