วิเคราะห์: เดิมพันของสหรัฐฯ กับจีนในวิกฤตยูเครน เพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ

USA-CHINA/BIDEN-XI

การหารืออย่างเข้มข้นในทุกระดับระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตลอดทั้งสัปดาห์ รวมถึงท่าทีของรัฐบาลอเมริกันที่ออกโรงเตือนรัฐบาลปักกิ่งถึงผลกระทบที่ตามมาในการสนับสนุนรัสเซียในการบุกยูเครนที่ดำเนินมาร่วมสี่สัปดาห์นี้ นับเป็นเกมการเดิมพันครั้งใหญ่ของรัฐบาลไบเดนต่อจีน ที่สร้างความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจในสองฟากฝั่งของโลกอย่างมาก

กลยุทธ์ของสหรัฐฯ ในการกดดันจีนให้แสดงท่าทีต่อการบุกยูเครนของรัสเซีย เริ่มต้นด้วยการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองมหาอำนาจในกรุงโรม ซึ่งมีขึ้นในวันจันทร์ นำโดยปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เจค ซัลลิแวน และที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของจีน หยาง จีชี่ ยังผลต่อเป็นการเปิดทางการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีสี ซึ่งกินเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงในวันศุกร์ มุ่งเน้นความพยายามจัดการการแข่งขันระหว่างสองประเทศ และหารือผลกระทบของสงครามในยูเครนที่มีต่อทั่วโลกเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การหารือที่ง่ายดายนัก อ้างอิงจากการเปิดเผยของตัวแทนจากสหรัฐฯ รายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการหารือของสองมหาอำนาจในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ตัวแทนจากเจรจาจากรัฐบาลปักกิ่งมีท่าที ‘แข็งกร้าว’ต่อสหรัฐฯ ในการหารือที่กรุงโรมเมื่อต้นสัปดาห์ ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกรายบอกเพียงว่าการหารือนั้นไม่ได้จบลงด้วยดีนัก

รัฐบาลวอชิงตัน กำลังค้นหาต้นตอของคำถามที่ไม่ได้คำตอบจากจีน รวมถึงกำหนดจุดที่จีนห้ามฝ่าฝืนเกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครน รวมถึงมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ ต่อจีนเมื่อเวลานั้นมาถึง

คณะทำงานของปธน.ไบเดน ยังอยู่ระหว่างการเฝ้าติดตามสถานการณ์ว่าจีนจะมีท่าทีอย่างไรก่อนจะเดินหน้ามาตรการต่างๆออกมา โดยเจน ซากิ โฆษกประจำทำเนียบขาว ระบุในวันจันทร์ว่า สหรัฐฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการสหรัฐฯ ระบุว่า จะจับตาความช่วยเหลือด้านการทหาร เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ที่จีนส่งมอบให้กับรัสเซียด้วยเช่นกัน

เมื่อวันจันทร์ สหรัฐฯ เปิดเผยกับนาโต้และหลายประเทศในเอเชียว่า จีนส่งสัญญาณความต้องการสนับสนุนด้านการทหารและเศรษฐกิจแก่รัสเซีย ในการสนับสนุนการก่อสงครามในยูเครน ซึ่งทางการจีนปฏิเสธในประเด็นนี้ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เจค ซัลลิแวน ได้เตือนก่อนการหารือระดับสูงกับจีนว่า จีนจะเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงตามมาหากยื่นมือเข้าช่วยรัสเซียหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตกสืบเนื่องจากการรุกรานยูเครน

ในมุมมองของ เควิน กัลลาเกอร์ จาก Global Development Policy Center แห่ง Boston University ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า จีนเพิ่งประกาศความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบไร้ข้อจำกัดกับรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นอาจทำให้จีนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงท่าที

ด้าน เหอ เว่ยเหวิน นักวิชาการอาวุโสจาก Chongyang Institute for Financial Studies แห่ง Renmin University ในกรุงปักกิ่งของจีน เห็นว่า สหรัฐฯ มีเป้าหมายในการจัดการป้องปรามจีน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นเหตุผลในการกระทำดังกล่าว และว่าคำเตือนต่างๆ จากสหรัฐฯ นั้น เป็นเหมือนกับ “การแบล็คเมล” จีน

ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวในคณะทำงานและฝ่ายการทูตในกรุงวอชิงตันและยุโรป ระบุว่า ประเทศตะวันตกได้เดินหน้าส่งคำเตือนไปยังรัฐบาลปักกิ่ง เกี่ยวกับการสนับสนุนของจีนต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการหารือระหว่างตัวแทนจากสหรัฐฯ และจีนจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งทางรัสเซียได้ปฏิเสธข่าวการช่วยเหลือทางการทหารที่มาจากจีน ส่วนจีนได้ออกโรงตอบโต้ถึงแถลงการณ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ว่าเป็นการเผยแพร่ข่าวปลอมที่พุ่งเป้าไปยังจีนในประเด็นที่เกี่ยวกับยูเครน ขณะที่มีชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ บางประเทศ เริ่มตั้งคำถามถึงข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับการสนทนาระหว่างรัสเซียและจีน อ้างอิงจากแหล่งข่าวด้านการทูตในฝั่งยุโรปหลายรายของรอยเตอร์

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรายหนึ่ง เปิดเผยกับรอยเตอร์ด้วยว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร เกี่ยวกับความร่วมมือในการบังคับใช้มาตรการลงโทษต่างๆ ต่อจีนในกรณียูเครนนั้นยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และนักวิเคราะห์ต่างแสดงความกังวลว่าการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ กับจีนต่อประเด็นยูเครน อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรง ไม่เพียงแค่กับจีน แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมา จีนทำการค้ามากขึ้นกับสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มนาโต้ มากกว่าที่ดำเนินธุรกิจกับรัสเซีย และเศรษฐกิจจีนพึ่งพาตลาดจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การหารือระหว่างปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เจค ซัลลิแวน และที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของจีน หยาง จีชี่ เมื่อต้นสัปดาห์ ไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นด้านการค้ามากนัก อ้างอิงจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ

ปธน.ไบเดน เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ และระบุให้จีนเป็นความท้าทายเชิงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญในยุคการบริหารประเทศของเขา ด้านหนึ่งเพื่อการปกป้องคุณค่าของประชาธิปไตยและต่อต้านคู่แข่งจากประเทศผู้นำอำนาจนิยม แต่อีกด้านหนึ่งปธน.ไบเดน หวังว่าความสัมพันธ์ของเขากับผู้นำจีน อาจช่วยลดโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ รวมทั้งโอกาสการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน โดยเฉพาะประเด็นของไต้หวันที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นในขณะนี้

สก็อต เคนเนดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน จาก Center for Strategic and International Studies มองว่า ตอนนี้จีนมีทางเลือกระหว่างการเลือกอยู่เคียงข้างกับรัสเซีย หรือจะเลือกรักษาระยะห่างกับรัฐบาลมอสโก และทำให้ทั่วโลกเห็นว่าจีนให้ความสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในโลก และว่าหากจีนบอกปัดโอกาสนี้ ก็ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะมีโอกาสครั้งต่อไปให้จีนได้เจรจาหารือเพื่อลดทอนความแตกต่างกับสหรัฐฯ ในแง่มุมต่างๆ ได้อีกหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่การตัดสินใจของจีนแล้ว

  • ที่มา: รอยเตอร์